Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการผุในฟันน้ำนมก่อนอายุ 4 ปี กับการผุบนด้านบดเคี้ยวของฟันกรามถาวรซี่แรกในเด็กอายุ 8 ปี โดยศึกษาจากแฟ้มประวัติเด็กที่เข้ารับการรักษาทันตกรรมแบบสมบูรณ์จากภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระหว่างปี พ.ศ. 2526-2538 จำนวน 403 ราย โดยบันทึกข้อมูลอายุในการตรวจครั้งแรกและครั้งสุดท้ายจำนวนฟันน้ำนมที่ผุรูปแบบการผุของฟันน้ำนมและฟันกรามถาวรซี่แรกที่ผุและนำมาแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามจำนวนฟันน้ำนมที่ผุเป็น 3 กลุ่มตัวอย่างได้แก่ กลุ่มที่ไม่มีฟันน้ำนมผุ กลุ่มผุ 1-6 ซี่และมากกว่า 6 ซี่ ส่วนรูปแบบการผุแบ่งเป็น 6 รูปแบบได้แก่กลุ่ม CF (กลุ่มที่ไม่มีฟันน้ำนมผุ) กลุ่ม PF (ผุบริเวณหลุมร่องของฟันกราม) กลุ่ม AT (ผุฟันหน้า) กลุ่ม MP (ผุด้านประชิดของฟันกราม) กลุ่ม AT+PF (ผุฟันหน้าและหลุมร่องของฟันกราม) กลุ่ม AT+PF+MP (ผุฟันหน้า หลุมร่องและด้านประชิดของฟันกราม) ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มที่มีฟันน้ำนมผุ 1-6 ซี่และมากกว่า 6 ซี่มีความเสี่ยงของการเกิดฟันผุบนด้านบดเคี้ยวของฟันกรามถาวรซี่แรกมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีฟันน้ำนมผุอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) โดยมีค่าความเสี่ยงเป็น 1.69 และ 5.27 เท่า และรูปแบบการผุ AT+PF และ AT+PF+MP มีความเสี่ยงของการเกิดฟันผุบนด้านบดเคี้ยวของฟันกรามถาวรซี่แรกมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีฟันน้ำนมผุอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) เช่นกัน โดยมีค่าความเสี่ยงเป็น 2.6 และ 6.5 เท่า และจำนวนฟันน้ำนมที่ผุก่อนอายุ 4 ปี มีความสัมพันธ์กับฟันผุบนด้านบดเคี้ยวของฟันกรามถาวรซี่แรกอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.01) โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ 0.38 ในการศึกษานี้ได้มีการคำนวณค่าความไว ค่าความจำเพาะ ค่าการทำนายการเกิดฟันผุบนด้านบดเคี้ยวของฟันกรามถาวรซี่แรก แต่ไม่ได้หาจุดเหมาะสม (optimal operational point) อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาต่อไปในกลุ่มประชากรที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน จากผลการวิจัยสรุปได้ว่าจำนวนฟันน้ำนมที่ผุและรูปแบบการผุที่ลุกลามมากที่อายุไม่เกิน 4 ปี มีความสัมพันธ์กับการเกิดฟันผุบนด้านบดเคี้ยวของฟันกรามถาวรซี่แรก