Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อผิวรากฟัน ภายหลังการใช้หัวขูดหินน้ำลายอัลทราโซนิกส์ชนิดพี-10 หัวขูดชนิดเอฟเอสไอ และหัวขูดชนิดสลิมไลน์ ในฟันของผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบ กลุ่มตัวอย่างเป็นฟันรากเดียวที่ได้วางแผนการรักษาว่าจะถอนฟันทำการขูดหินน้ำลายเฉพาะด้านใกล้กลาง และด้านไกลกลางซึ่งถูกเลือกจากการสุ่มอย่างมีระบบเพื่อเลือกชนิดของหัวขูดหินน้ำลายอัลทราโซนิกส์ ทำการขูดหินน้ำลายจนกระทั่งเมื่อตรวจด้วยเครื่องมือเอกซพลอเรอร์แล้ว รู้สึกว่าผิวรากฟันเรียบ หลังจากถอนฟันแล้ว ประเมินผิวรากฟันที่ใช้ทดสอบจำนวน 60 ด้านด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด บันทึกภาพที่บริเวณส่วนกลางของผิวรากฟัน ที่ใช้ทดสอบจำนวน 1 ภาพด้วยกำลังขยาย 35 เท่า และที่บริเวณมุมทั้ง 4 ของพื้นผิว ที่ใช้ทดสอบด้วยกำลังขยาย 100 เท่า นำภาพถ่ายแต่ละภาพมาให้คะแนน 3 ครั้ง ตามดัชนี ความขรุขระ และการสูญเสียเนื้อฟัน ผลการวิจัยสรุปว่า มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ของคะแนนตามดัชนีความขรุขระ และการสูญเสียเนื้อฟันของหัวขูดหินน้ำลายอัลทราโซนิกส์ชนิดพี-10 กับหัวขูดชนิดสลิมไลน์ และระหว่างหัวขูดชนิดเอฟเอสไอกับหัวขูดชนิดสลิมไลน์ การประเมินด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด และการวิเคราะห์ทางสถิติ พบว่า หัวขูดชนิดสลิมไลน์มีผลกระทบต่อผิวรากฟันน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับหัวขูดชนิดพี-10 และหัวขูดชนิดเอฟเอสไอ นอกจากนี้ พบว่า เวลาที่ใช้ในการขูดหินน้ำลาย และความลึกของร่องลึกปริทันต์ เป็นปัจจัยซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับผลกระทบต่อผิวรากฟันที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขูดหินน้ำลายด้วยหัวขูดชนิดพี-10 หรือหัวขูดชนิดเอฟเอสไอ ขณะที่ปัจจัยนี้มีผลน้อยเมื่อขูดหินน้ำลายด้วยหัวขูดชนิดสลิมไลน์