Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากรอบมโนทัศน์ของความทุกข์และศึกษาประสบการณ์ความทุกข์ใจในบริบทพุทธธรรมของนิสิตนักศึกษาไทย 2) พัฒนาและตรวจสอบคุณสมบัติทางจิตมิติของมาตรวัดความทุกข์ 3) ศึกษาค่าเกณฑ์ปกติในระดับประเทศของมาตรวัดความทุกข์ในนิสิตนักศึกษา โดยการวิจัยนี้เป็นการวิจัยผสานวิธี โดยมีรูปแบบการวิจัยสำรวจเป็นลำดับขั้นตอน การวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการศึกษากรอบมโนทัศน์ของความทุกข์ในบริบททางพุทธธรรมด้วยการสังเคราะห์เอกสารและการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ในระยะนี้มีการศึกษาประสบการณ์ความทุกข์ใจในนิสิตนักศึกษา ด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์รายบุคคลในนิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรี จำนวน 21 คน การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการจัดกลุ่มข้อมูลด้วยโปรแกรม Atlas.ti ระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพมาตรวัดที่พัฒนาขึ้นจากนิสิตนักศึกษา จำนวน 1,049 คน และระยะที่ 3 เป็นการศึกษาค่าเกณฑ์ปกติในนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีจากทั่วประเทศ จำนวน 1,817 คน ผลจากการศึกษาระยะที่ 1 พบว่า กิเลสและอกุศลเจตสิกเป็นสาเหตุของความทุกข์ใจ สำหรับผลการศึกษาประสบการณ์ความทุกข์ใจของนิสิตนักศึกษา พบ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ความทุกข์ใจที่นิสิตนักศึกษาประสบ (2) ภาวะใจเมื่อประสบกับความทุกข์ (3) มูลเหตุแห่งความทุกข์ใจ (4) สิ่งที่ทำให้ความทุกข์ใจคลี่คลาย ระยะที่2 มาตรวัดความทุกข์พัฒนาขึ้นจากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาระยะที่ 1 โดยมาตรวัดนี้ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ (1) ความทุกข์ใจจากความยึดมั่น (2) ความทุกข์ใจจากความทะยานอยาก และ (3) ความทุกข์ใจจากความขัดเคืองและความกังวลใจ ผลของการตรวจสอบและพัฒนามาตรวัดความทุกข์ในนิสิตนักศึกษาพบว่า มาตรวัดนี้มีความตรงตามเนื้อหาจากการตรวจสอบของผู้ทรงคุณวุฒิ 9 ท่าน โดยมีค่าความสอดคล้องตั้งแต่ .70 มีความตรงตามเกณฑ์สัมพันธ์กับความวิตกกังวลต่อสถานการณ์เฉพาะ (r = .62) ความวิตกกังวลของตนเองโดยทั่วไป (r = .57) แบบคัดกรองความซึมเศร้าในวัยรุ่น (r = .60) และแบบวัดภาวะอุเบกขา (r = -.68) มีความตรงเชิงภาวะสันนิษฐานจากกลุ่มรู้ชัด (t = 10.16, P < .001) และจากการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่หนึ่งโดยพบว่าโมเดลการวัดมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Chi-square = 2.076 ; df = 1 ; p =.150 ; CFI = .988 ; GFI = .998 ; AGFI = .990 ; RMSEA = .036; Chi-square/df = 2.076) และมีค่าความเที่ยงจากสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาคของมาตรวัดทั้งฉบับเท่ากับ .92 ระยะที่ 3 ผลจากการพัฒนาเกณฑ์ปกติ พบว่า คะแนนความทุกข์ในภาพรวม ของมาตรวัดความทุกข์ในนิสิตนักศึกษา มีคะแนนทีปกติอยู่ในช่วง T22 ถึง T82 โดย T50 ตรงกับคะแนนดิบที่ 165 คะแนน ผลสรุปจากการวิจัยครั้งนี้ทำให้ได้เครื่องมือที่สามารถใช้ในการคัดกรองและประเมินนิสิตนักศึกษา และเป็นการพัฒนาเครื่องมือวัดที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมไทยโดยตรง และมีการพัฒนาเกณฑ์ปกติในกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศทำให้สามารถนำไปใช้ศึกษาความทุกข์ของนิสิตนักศึกษาในวงกว้างต่อไป