Abstract:
วิทยานิพนธ์ “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ที่สะท้อนถึงความเชื่อหลังความตายของครูโนรา” เป็นการวิจัยแบบสร้างสรรค์ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างสรรค์รูปแบบการแสดงนาฏยศิลป์ และหาแนวคิดในการสร้างงานการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ที่สะท้อนถึงความเชื่อหลังความตายของครูโนรา ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก 1) เอกสาร 2) การสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย 3) สื่อสารสนเทศอื่นๆ 5) การสำรวจข้อมูลภาคสนาม 6) เกณฑ์มาตรฐานศิลปิน จากนั้นจึงทำการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูล สรุปผล และนำเสนอเป็นผลงานวิจัย โดยการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนมกราคม 2554 ถึงเดือนธันวาคม 2555 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในด้านศิลปะการแสดง รวมถึงนิสิต นักศึกษาโดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์งานนาฏยศิลป์แบบสร้างสรรค์ นอกจากนี้ผู้วิจัยได้นำแรงบันดาลใจจากความเชื่อหลังความตายของครูโนรา ในประเด็นของความกตัญญู ความรัก ความผูกพันธ์ของคนในครอบครัว ข้อมูลทั้งหมดนี้ได้นำมาวิเคราะห์ เพื่อตอบคำถามในงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ครั้งนี้คือ ได้ผลงานการแสดงนาฏยศิลป์ที่สะท้อนถึงความเชื่อหลังความตายของครูโนรา ตรงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ
จากการสร้างสรรค์ทำให้ได้รูปแบบนาฏยศิลป์อธิบายได้ตามองค์ประกอบทางด้านนาฏยศิลป์ที่ประกอบไปด้วย บทการแสดงที่สะท้อนถึงความเชื่อ ลีลาการแสดงแบบโนรา นาฏยศิลป์สมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ เครื่องแต่งกาย ดนตรีที่เป็นทั้งแบบอนุรักษ์และสร้างสรรค์ พื้นที่การแสดงที่ใช้สิ่งก่อสร้างที่เป็นวัสดุท้องถิ่นจากธรรมชาติ แสงที่ใช้สีน้อย อุปกรณ์ประกอบการแสดงที่ใช้เพื่อสร้างความสมจริงของการประกอบพิธีกรรม นักแสดงที่มีพื้นฐานทางด้านการแสดงนาฏยศิลป์ไทยและนาฏยศิลป์ร่วมสมัย ส่วนแนวคิดของ “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ที่สะท้อนถึงความเชื่อหลังความตายของครูโนรา" นั้นจะให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ซึ่งเรียงลำดับตามความสำคัญก่อนหลัง คือ การคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ในการแสดง การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ การใช้ความหลากหลายของรูปแบบการแสดง การใช้ทฤษฎีทางด้านนาฏยศิลป์ และทัศนศิลป์ การใช้ทฤษฎีทางด้านการสื่อสารการแสดง การสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม การใช้สัญลักษณ์ เพื่อสื่อสารในการแสดง โดยที่งานสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ชิ้นนี้ได้เป็นตัวอย่างของสื่อที่จะแสดงถึงการสร้างความเข้าใจของคนในวัฒนธรรมที่หลากหลายต่อไป