Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาการเมืองในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในระบบราชการไทย เพื่อให้ทราบถึงรูปแบบ/วิธีการในการเล่นการเมือง และทราบถึงลักษณะที่เป็นข้อสังเกตสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณีศึกษา โดยได้ดำเนินการศึกษา และรวบรวมข้อมูลจากกรณีตัวอย่างในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงจำนวน 3 กรณี ได้แก่ กรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง กรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกข้าราชการระดับสูงสังกัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นสัมภาษณ์ข้าราชการระดับสูงสังกัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก
จากการศึกษาพบว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งทางการเมืองของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการประจำ โดยนักการเมืองใช้ระบบอุปถัมภ์เป็นเกณฑ์ และใช้ Democratic Governance เป็นกลยุทธ์ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในระบบราชการไทย นอกจากนี้ ยังพบว่าในปัจจุบัน การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงมีลักษณะของการโยกย้ายข้ามสายงาน หรือข้ามหน่วยงานมากขึ้น และตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำถูกฝ่ายการเมืองนำมาใช้ให้เป็นตำแหน่งที่จะแต่งตั้งให้ข้าราชการระดับสูงที่ต้องการจะโยกย้ายมาดำรงตำแหน่ง โดยฝ่ายการเมืองจะมีรูปแบบ/วิธีการในการเล่นการเมือง ดังนี้ ทำลายความน่าเชื่อถือของข้าราชการระดับสูง ใช้อำนาจทางกฎหมาย สร้างข้อแลกเปลี่ยนและการตอบแทน อ้างธรรมเนียมและการสนองตอบนโยบายของข้าราชการระดับสูง และอ้างความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของข้าราชการระดับสูงว่าจำเป็นสำหรับตำแหน่งใหม่ที่ถูกแต่งตั้งโยกย้ายไป