Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการทางด่วนพิเศษระบายน้ำ โดยเปรียบเทียบต้นทุนและผลประโยชน์จากการดำเนินงานตลอดอายุโครงการ 30 ปี ในส่วนของต้นทุนโครงการ ประกอบด้วย 1)ต้นทุนจากการดำเนินการก่อสร้างและบำรุงรักษา สามารถคำนวณได้จาก ราคากลางค่าก่อสร้าง ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี คิดเป็นมูลค่าปีละ 7,562 ล้านบาทต่อปี 2)ต้นทุนค่าบำรุงรักษา คำนวณได้จากราคากลางค่าบำรุงรักษาทาง คิดเป็นมูลค่าปีละ 34 ล้านบาท 3)ค่าเวนคืนสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน คำนวณได้จากราคาตลาดของสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน รวมเป็นมูลค่า 32,927 ล้านบาท และ 4)ค่าชดเชยให้เจ้าของพื้นที่ คำนวณจากความเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนเวนคืน คิดเป็นต้นทุนของโครงการ มูลค่าปีละ 746 ล้านบาท
ส่วนประโยชน์จากการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย 1)ประโยชน์จากการป้องกันอุทกภัยระดับเป้าหมาย โดยคำนวณจากมูลค่าผลกระทบที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่าผลกระทบจากอุทกภัยในปี พ.ศ.2554 หรือเท่ากับ 1,178,579 ล้านบาท 2)ประโยชน์ทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ คำนวณจากความเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อสนับสนุนโครงการ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 126,729 ล้านบาท 3)ประโยชน์จากการใช้ถนน คำนวณจากต้นทุนในการขนส่งสินค้าที่ประหยัดได้ มูลค่าปีละ 348 ล้านบาท 4)ประโยชน์จากผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น คำนวณจากผลิตภาพทางการเกษตร คิดเป็นมูลค่าปีละ 3,028 บาท
ผลการศึกษาพบว่า กรณีที่เกิดอุทกภัยขึ้นในปีสุดท้ายของโครงการ มูลค่าปัจจุบันสุทธิของโครงการ จะมีมูลค่าเท่ากับ 72,201.89 ล้านบาท อัตราส่วนระหว่างมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย เท่ากับ 2.73 และอัตราผลตอบแทนภายในโครงการ เท่ากับ ร้อยละ 16.89 แสดงให้เห็นว่าโครงการมีความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ในการดำเนินงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนของการจะไม่ส่งผลต่อผลตอบแทนของโครงการมากนัก โดยผลตอบแทนของโครงการจะได้รับผลกระทบมากก็ต่อเมื่อปีที่เกิดอุทกภัยระดับเป้าหมายมีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า การพิจารณาลงทุนในโครงการทางด่วนพิเศษระบายน้ำจึงขึ้นอยู่กับความถี่และช่วงเวลาที่จะเกิดอุทกภัยระดับเป้าหมาย