Abstract:
มรดกเป็นสิ่งที่ตกทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยไม่ต้องทำการซื้อหาหรือใช้ความพยายามใดๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ และการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งผู้ที่ได้รับมรดกนั้นย่อมสามารถที่จะใช้มรดกที่ได้รับมาสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเองได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับมรดก ดังนั้นภาษีมรดกจึงควรเกิดขึ้นเพื่อที่จะดึงเอาทรัพยากรที่ส่งต่อความมั่งคั่งจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งดังกล่าวนี้ นำออกมาสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม และลดความไม่เท่าเทียมกันในด้านต่างๆลงได้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงทำการศึกษารูปแบบและหลักการ ข้อดีข้อเสียในการจัดเก็บภาษีมรดกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และศึกษาผลของการจัดเก็บภาษีมรดกต่อรายได้รัฐ หากมีการจัดเก็บในปี พ.ศ. 2552 พร้อมทั้งศึกษาภาระภาษีมรดกที่จะเกิดขึ้นจำแนกตามชั้นรายได้ และท้ายที่สุดทำการศึกษาผลของการจัดเก็บภาษีมรดกที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงการกระจายรายได้ และความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นหากมีการจัดเก็บภาษีมรดกในปี พ.ศ. 2552 โดยการวิเคราะห์ ดัชนีจีนี (Gini Index)
จากการศึกษาพบว่าภาษีมรดกมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศหรือในประเทศไทยเอง มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม และผลพลอยได้คือ รายได้ที่สามารถจัดเก็บได้มากยิ่งขึ้น ภาษีมรดกมีความสำคัญของการเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาลได้ เนื่องจากสัดส่วนรายได้จากการจัดเก็บภาษีมีความใกล้เคียงกับสัดส่วนรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีน้ำมันฯ ส่วนภาระภาษีมรดกที่เกิดขึ้น ในทุกรูปแบบการจัดเก็บภาษีมดกเมื่อจำแนกตามชั้นรายได้ กลุ่มที่ยากจนที่สุดไม่มีภาระภาษีมรดกเกิดขึ้น หรือมีค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับภาระภาษีของกลุ่มที่ร่ำรวยกว่า หรือกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุด และท้ายที่สุดในการศึกษาดัชนีจีนีเพื่อวิเคราะห์ถึงความไม่เท่าเทียมกันของรายได้และทรัพย์มรดกของครัวเรือน พบว่าเมื่อมีการจัดเก็บภาษีมรดก ในปี พ.ศ. 2552 ดัชนีจีนีรายได้และดัชนีจีนีทรัพย์มรดกมีค่าที่ลดลงเพียงเล็กน้อย โดยลำดับการลดลงของดัชนีจีนีรายได้ และดัชนีจีนีทรัพย์มรดกนั้น มีความสอดคล้องกับรายได้ภาษีที่สามารถจัดเก็บได้จากภาษีมรดกในแต่ละรูปแบบ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการจัดเก็บภาษีมรดกช่วยลดความไม่เท่าเทียมกันในด้านรายได้และทรัพย์มรดกได้บ้างส่วนนึง แต่จากค่าดัชนีจีนีทรัพย์มรดกที่ลดลงในสัดส่วนที่น้อยมาก แสดงให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ที่ลดน้อยลงนั้น อาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถนำรายได้ที่มีไปต่อยอดเพื่อสะสมความมั่งคั่งได้ โดยความไม่เท่าเทียมกันดังกล่าวนี้จะยังคงมีอยู่ หรืออาจทวีความรุนแรงกว่านี้ได้ ดังนั้นการจัดเก็บภาษีมรดกจึงเป็นเครื่องมืออีกประการหนึ่งที่จะเพิ่มความเสมอภาค และช่วยลดความไม่เท่าเทียมกันในด้านต่างๆที่เกิดขึ้นให้บรรเทาความรุนแรงลงได้