Abstract:
งานวิทยานิพนธ์เรื่อง เศรษฐศาสตร์การเมืองในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา Political Economy in Buddhist Scripture มุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และเพื่อเสนอหลักการทางเศรษฐศาสตร์การเมืองตามแนวพระพุทธศาสนาให้เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ
จากการศึกษาพบว่า หลักเศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องแนวทางเศรษฐกิจในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเน้นหลักการประกอบสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นหนึ่งอริยมรรคมีองค์แปด อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่ครอบคลุมองค์ประกอบของทุกๆ อาชีพ และแบ่งหลักทางเศรษฐศาสตร์ใน ๒ รูปแบบ คือ ฝ่ายบรรพชิต เน้นเรื่องการบริโภคปัจจัย ๔ ด้วยความพอดีตามหลักสันโดนดำรงตนให้มีความเป็นอยู่เรียบง่าย และฝ่ายคฤหัสถ์เน้นการเลี้ยงชีพในทางที่ชอบด้วยความสุจริต โดยไม่เน้นเศรษฐกิจเกินกำลังสามารถ รวมถึงตั้งตนให้อยู่ในศีล ๕ เพราะเนื่องจากผู้ประกอบสัมมาอาชีพ ต้องพิจารณาแรงจูงใจในการประกอบอาชีพว่าอาชีพนั้นมีความสุจริตหรือไม่ นอกจากนี้แล้ว การประกอบอาชีพยังต้องพิจจารณาถึงความสำคัญภายในองค์กร ผลจากการประกอบอาชีพจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตัวบุคคล ต่อสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นสิ่งที่ล้วนแล้วต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบอันเกี่ยวเนื่องกับสัมมาอาชีวะ ไม่ว่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเศรษฐกิจในระดับภาครัฐ หรือเอกชน
จึงสามารถเสนอหลักการทางเศรษฐศาสตร์การเมืองตามแนวพระพุทธศาสนาให้เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ นั่นคือ หลักมัชฌิมาปฏิปทา(ทางสายกลาง) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นหลักเศรษฐกิจที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดี พออยู่ พอกิน พอใช้ เป็นหลักเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งตนเองได้ ให้มีความพอเพียงกับตนเอง โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น อีกทั้งไม่มุ่งหวังที่จะสร้างความเจริญ ด้านวัตถุภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ให้มุ่งเน้นที่จะสามารถพึ่งตนเอง เพราะบุคคลที่สามารถพึ่งตนเองได้ ย่อมสร้างความเจริญก้าวหน้า และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นไปได้