Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์การศึกษานาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย การแสดงชุด “CONTEMPORARY VISUALITY OF THAI PHILOSOPHY OF LIFE” (ภาพลักษณ์ร่วมสมัยในปรัชญาของไทย) ของ ศ.ดร. นราพงษ์ จรัสศรี ด้วยวิธีการรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลที่เกี่ยวข้องในงานการแสดง เอกสารวิชาการ สูจิบัตร ฯลฯ และสรุปงานการวิเคราะห์เป็นลายลักษณ์อักษร
การศึกษาวิเคราะห์งานการแสดงนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย “CONTEMPORARY VISUALITY OF THAI PHILOSOPHY OF LIFE” (ภาพลักษณ์ร่วมสมัยในปรัชญาของไทย) พบว่ากระบวนการท่าทางได้สื่อสารผ่านเรื่องราว ปรัชญา วิถีชีวิต สังคม ศาสนา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ในลักษณะของความเป็นไทย ซึ่งในอดีตผู้คนมีจิตใจ เอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ขณะเดียวกันคนในสังคมก็มีการเอารัดเอาเปรียบ และแย่งชิงกัน แสดงออกถึงชีวิตที่สับสน และสุดท้ายผู้คนในสังคมก็ต่างหวนหาคืนวันเก่าๆ แสดงโดยการเต้นมีลีลานาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัย โดยผู้แสดงจะถือดอกบัวที่เป็นสัญลักษณ์ในพุทธปรัชญาอัน หมายถึง ความดีงาม ความสงบสุข ความบริสุทธิ์ และศาสนาที่ผู้คนละทิ้งและเก็บรักษา เสมือนกิเลสตัณหา ที่เห็นเป็นสมบัติพากันแย่งชิง
นอกจากนี้พบว่าการแสดงชุดนี้เป็นตัวอย่างของศิลปะการแสดงร่วมสมัยที่ทรงคุณค่าของสังคมไทยที่แสดงเอกลักษณ์ของชาติออกสู่สายตาของนานาชาติ การวิจัยครั้งนี้ยังพบว่า การสร้างสรรค์งานในบางอย่าง มีคุณค่าตามหลักปรัชญาสุนทรียศาสตร์เรื่องรูปแบบสุนทรียะ อย่างไรก็ตามการแสดงชุดนี้มีคุณค่าทางนาฏยศิลป์ไทยร่วมสมัยตามหลักวิชาการ คือ เป็นศิลปะที่พัฒนาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่อันมีวัฒนธรรมเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์ กล่าวคือการแสดงชุดนี้ใช้รูปแบบการแสดงที่มีลีลาท่าทางของตะวันตกและลีลาท่าทางด้านนาฏยศิลป์ไทย