Abstract:
วงเครื่องสายปี่ชวาเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยการนำเอาวงกลองแขกประสมเข้ากับวงเครื่องสายไทย หน้าที่ของผู้บรรเลงจะเข้ภายในวงเป็นการดำเนินทำนองหลักและประคับประคองวงขณะบรรเลง ผู้ที่สามารถบรรเลงจะเข้ในวงเครื่องสายปี่ชวาได้นั้นต้องมีไหวพริบปฏิภาณ ความคล่องตัว ความแม่นยำเป็นอันดี
การศึกษาประวัติชีวิตรองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน พบว่าเป็นบุตรคนสุดท้องได้สมรสกับหม่อมราชวงศ์รัตนวดี ชมพูนุท เข้ารับการศึกษาทางการบรรเลงจะเข้จากครูทองดี สุจริตกุล และครูละเมียด จิตตเสวี เป็นพื้นฐานและยังได้รับการถ่ายทอดความรู้ในทางดนตรีไทยจากอีกหลายท่าน รองศาสตราจารย์ปกรณ์มีความสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายไทยเป็นอย่างดีทั้งยังสามารถบรรเลงกระจับปี่ พิณน้ำเต้า และพิณพม่าได้เช่นเดียวกัน
จากการศึกษาลักษณะเฉพาะการดีดจะเข้ในวงเครื่องสายปี่ชวาของรองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน พบลักษณะเฉพาะ 2 ลักษณะคือ ลักษณะเฉพาะด้านวิธีการ ประกอบด้วย 11 วิธีการ ได้แก่ วิธีการดีดทิงนอย วิธีการดีดทิงนอยแบบสองห้องเพลง วิธีการสะบัดเสียงเดียว วิธีการสะบัดสองเสียง วิธีการสะบัดสามเสียง วิธีการดีดกระทบสามสาย วิธีการดีดกระทบสามสายในลักษณะการเชื่อมต่อจากสายทุ้ม วิธีการเปิดสายเอกเปล่า วิธีการกรอแบบเชื่อมเสียง วิธีการรูดสายลวด และวิธีการดีดสายลวดในลักษณะ -x-x,-x-- และสำนวนกลอน 8 สำนวน ประกอบด้วย สำนวนการใช้เสียงชิด สำนวนการใช้เสียงชิดข้าม สำนวนแบบกึ่งเก็บกึ่งกรอ สำนวนการใช้สายเอกสลับสายทุ้ม สำนวนการใช้วิถีลงเชื่อมต่อกัน สำนวนแบบจาว ๆ สำนวนการเท่าแบบเสียงชิด และสำนวนการใช้สายจะเข้ครบทั้งสามสาย
วิธีการบรรเลงที่รองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน นิยมมากที่สุด คือ วิธีการดีดทิงนอย วิธีการดีดทิงนอยแบบสองห้องเพลง วิธีการสะบัดเสียงเดียว และวิธีการสะบัดสามเสียง รองลงมาคือ วิธีการดีดกระทบสามสาย วิธีการดีดกระทบสามสายในลักษณะการเชื่อมต่อจากสายทุ้ม สำหรับลักษณะเฉพาะด้านสำนวนกลอนที่รองศาสตราจารย์ปกรณ์ รอดช้างเผื่อน นิยมมากที่สุด คือ สำนวนการใช้เสียงชิด สำนวนการใช้เสียงชิดข้าม สำนวนการใช้วิถีลงเชื่อมต่อกันและสำนวนแบบจาว ๆ รองลงมาคือสำนวนแบบกึ่งเก็บกึ่งกรอ สำนวนการใช้สายเอกสลับสายทุ้ม สำนวนการใช้สายจะเข้ครบทั้งสามสาย สำนวนกลอนที่ใช้เป็นการดำเนินทำนองแบบเรียบร้อยสัมพันธ์กันและในสำนวนกลอนที่เหมือนกันจะเปลี่ยนให้เกิดความแตกต่างกัน ลักษณะการใช้วิธีการและสำนวนกลอนยังคงอยู่ในขนบธรรมเนียมที่สืบทอดมาแต่โบราณ