Abstract:
งานวิจัยเรื่องกระบวนการสร้างกิจกรรมศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะเกี่ยวเนื่องเพื่อการรวมสังคมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเกิดจากการตั้งคำถามเรื่องบทบาทของงานศิลปะกับการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมทางสังคมของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ครอบครัว และชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดและปรัชญาสุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง (Relational Aesthetic) ในงานศิลปะและกิจกรรมของศิลปินตั้งแต่ปี 1990s เพื่อสร้างสรรค์กระบวนการสร้างกิจกรรมศิลปะที่เอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมทางสังคมของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และเพื่อสร้างนวัตกรรมทางศิลปะที่เกิดจากการรวมแนวคิดของการ
บูรณาการการรับรู้ความรู้สึก (Sensory Integration) กับภูมิปัญญาพื้นบ้านของเล่นเพื่อสุขภาพ ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการลงพื้นที่เป็นอาสาสมัครเพื่อเก็บข้อมูลภาคสนาม การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อค้นหากระบวนการสร้างกิจกรรมศิลปะ และเพื่อออกแบบและผลิตวัตถุทางศิลปะสำหรับจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียน 3 แห่ง คือ โรงเรียนแสงหิรัญวิทยา โรงเรียนสุเหร่าลำแขก และโรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล โดยทำการศึกษากับนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เก็บข้อมูลโดยใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึกกับครูและ
นักกิจกรรมบำบัด การสนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ปกครอง และการบันทึกวิดีทัศน์
ผลการวิจัยพบว่า ได้ต้นแบบของกลไกและกระบวนการสร้างกิจกรรมศิลปะที่ทำให้เกิดการรวมสังคมของเด็กที่มีความต้องการพิเศษกับเด็กปกติ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางศิลปะที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดและปรัชญาสุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง กระตุ้นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กปกติในพื้นที่ของการแลกเปลี่ยน (Arena of Exchange) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เด็กมีความคุ้นเคย และสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากวัตถุทางศิลปะ ซึ่งสร้างขึ้นจากการรวมแนวคิดเรื่องการบูรณาการการรับรู้ความรู้สึกเข้ากับของเล่นพื้นบ้าน การปฏิสัมพันธ์ของผู้ชมกับวัตถุทางศิลปะทำให้เกิดประสบการณ์แบบลงมือทำ (Hands-on Experience) ที่เอื้อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ (Inter-human Relation) ให้แน่นหนาขึ้น และก่อให้เกิดประโยชน์ทางกายภาพในขณะที่เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน