Abstract:
โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) เป็นโรคผิวหนังซึ่งมีการอักเสบแบบเรื้อรัง มีการแบ่งตัวของเซลล์เคอราติโนไซต์ที่มากกว่าปกติและพัฒนาการของเซลล์ผิดปกติ ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคนี้แน่ชัด การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งเมื่อใช้ยาเป็นเวลานานก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงและอาการดื้อยา คณะผู้วิจัยจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและเนื่องจากประเทศไทยมีสมุนไพรมากมาย สมุนไพรไทยจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่จะนำมาใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ ได้มีเป้าหมายศึกษาสารสกัดน้อยหน่า ข่า ขมิ้น และสารเควอซิทิน (Quercetin) ว่ามีกลไกต้านโรคสะเก็ดเงินอย่างไรในระดับโมเลกุล เนื่องจากระบบการทำงานของเซลล์ต้องอาศัยโปรตีนเป็นตัวตอบสนองจากการกระตุ้นด้วยสัญญาณต่างๆ โปรตีนจึงมีบทบาทสำคัญ คือการเป็นเป้าหมาย (Target protein) ในการรักษา ดังนั้น วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้เพื่อจำแนกชนิดโปรตีนเป้าหมายที่ตอบสนองต่อการทดสอบด้วยสารสกัดน้อยหน่า ข่า ขมิ้นและสารเควอซิทินที่เป็นสาเหตุทำให้เซลล์ผิวหนังเพาะเลี้ยง (Human Keratinocyte Cell Line, HaCaT cells) ซึ่งนำมาใช้เป็นโมเดลในการศึกษาในครั้งนี้ลดจำนวนลงได้โดยใช้เทคนิคทางด้านโปรตีโอมิกส์ ซึ่งประกอบด้วย Two-dimensional gel electrophoresis (2D-GE) และ tandem-mass spectrometry (MS/MS) จากการศึกษาพบว่า Cathepsin D, Enoyl-CoA hydratase, Heat shock protein beta-1 และ Peroxiredoxin-4 เป็นโปรตีนเป้าหมายร่วมที่ตอบสนองต่อการทดสอบด้วยสารสกัดน้อยหน่า ข่าและขมิ้น และสำหรับ Cathepsin D นั้นพบว่าเป็นโปรตีนเพียงชนิดเดียวที่สามารถตอบสนองต่อการใช้สารสกัดน้อยหน่า ข่า ขมิ้นและสารเควอซิทิน โดยที่โปรตีนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ พัฒนาการของเซลล์ การอักเสบ และการตายของเซลล์แบบ apoptosis เป็นหลัก นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้ทดสอบหาปริมาณฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์เพื่อศึกษาความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากพืชสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ซึ่งน่าจะมีบทบาทในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์เคอราติโนไซต์ ผลการวิเคราะห์ พบว่า สารสกัดจากขมิ้นมีปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด และแปรผันตรงกับการลดลงของจำนวนเซลล์เคอราติโนไซต์ ซึ่งจากการศึกษาในครั้งนี้ ทำให้ทราบโปรตีนเป้าหมายใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคสะเก็ดเงินต่อไปในอนาคต