Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่กำหนดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทยใน 21 ประเทศผู้รับการลงทุน และสิงคโปร์ใน 19 ประเทศผู้รับการลงทุน โดยการใช้การประมาณแบบจำลองของ Panel data ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2006-2012 เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการลงทุนจากประเทศไทยและสิงคโปร์ในกรณีที่เป็นปัจจัยดึงจากประเทศผู้รับการลงทุนและเพื่อจำแนกปัจจัยดังกล่าวออกเป็น “ปัจจัยผลัก” และ “ปัจจัยดึง” จึงได้ทำการศึกษาปัจจัยดังกล่าวในรูปของ Relative Term
ผลการศึกษาพบว่าสำหรับประเทศไทยปัจจัยที่เป็นปัจจัยดึงต่อการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ ได้แก่ ขนาดของตลาดในประเทศผู้รับการลงทุน ต้นทุนทางการเงิน ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในประเทศผู้รับการลงทุน ปัจจัยผลัก ได้แก่ กำลังซื้อของตลาด ระดับโครงสร้างพื้นฐาน และความมีเสถียรภาพทางการเมือง ส่วนปัจจัยดึงสำหรับสิงคโปร์คือ ขนาดของตลาดภายในประเทศผู้รับการลงทุน ระดับการเปิดประเทศ ต้นทุนทางการเงิน ความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในประเทศผู้รับการลงทุน ส่วนปัจจัยผลักของสิงคโปร์ได้แก่ ระดับโครงสร้างพื้นฐาน และความมีเสถียรภาพทางการเมือง ส่วนปัจจัยทางด้านต้นทุนการดำเนินงานนั้นไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นปัจจัยผลักหรือปัจจัยดึงแต่มีอิทธิพลต่อการลงทุนของไทยและสิงคโปร์ โดย OFDI ไทยและสิงคโปร์มีแนวโน้มเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริม OFDI นอกจากรัฐบาลจะควรส่งเสริมในแง่ของปัจจัยทางเศรษฐกิจ แล้วรัฐยังควรรักษาเสถียรภาพการเมือง จัดสรรโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในประเทศ และการดำเนินด้านนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศควบคู่ไปด้วย