Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบการรั่วซึมระดับจุลภาคที่ขอบเคลือบฟันและเนื้อฟันก่อนและหลังทำเทอร์โมไซคลิงของคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ที่ยึดได้ด้วยตัวเองกับการใช้เรซินคอมโพสิตร่วมกับสารบอนด์ดิง โดยฟันกรามน้อยที่ถูกถอนจำนวน 96 ซี่ที่ผ่านการเตรียมโพรงฟันคลาสไฟว์ด้านใกล้แก้ม (n=96) ถูกแบ่งเป็น 4 กลุ่ม (n=24) : 1. เวอร์ทิสโฟลว์ 2. เวอร์ทิสโฟลว์+ออปติบอนด์ออลอินวัน 3. พรีมิสโฟลว์+ออปติบอนด์ออลอินวัน 4. พรีมิส+ออปติบอนด์ออลอินวัน โดยฟันที่ผ่านการบูรณะแล้วจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย (n=12) คือกลุ่มที่ไม่ทำเทอร์โมไซคลิงและกลุ่มที่ทำเทอร์โมไซคลิง (1,000 รอบ) จากนั้นนำไปแช่ในเมทิลลีนบลูเพื่อประเมินระดับการรั่วซึม แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยครัสคาลวัลลิสและแมนวิทนียู (p<0.05) จากผลการศึกษาพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของการรั่วซึมที่ขอบเคลือบฟันของวัสดุทั้ง 4 กลุ่มทั้งก่อนและหลังเทอร์โมไซคลิง (p=0.067 และ p=0.397 ตามลำดับ) ขณะที่เวอร์ทิสโฟลว์มีการรั่วซึมที่ขอบเนื้อฟันสูงกว่าวัสดุกลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทั้งก่อนและหลังเทอร์โมไซคลิง (p<0.000 และ p=0.001 ตามลำดับ) ซึ่งการใช้สารบอนด์ดิงร่วมกับคอมโพสิตชนิดไหลแผ่ได้ที่ยึดได้ด้วยตัวเองสามารถลดการรั่วซึมระดับจุลภาคได้ โดยการทำเทอร์โมไซคลิงไม่มีผลต่อการรั่วซึมระดับจุลภาคอย่างมีนัยสำคัญ