Abstract:
งานศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศต่อการวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลแบบภาคตัดขวางและอนุกรมเวลา (Panel Data) ระดับบริษัทจากแบบสำรวจโรงงานประจำปี ระหว่างปี พ.ศ. 2550-2552 และใช้แบบจำลอง Heckman Two Step ในประมาณการเพื่อแก้ปัญหาความมีอคติของข้อมูล (Selection Bias) โดยในการศึกษาได้ประยุกต์แบบจำลอง Heckman Two Step ให้ใช้กับข้อมูลข้อมูลแบบภาคตัดขวางและอนุกรมเวลา (Panel Data) ประกอบด้วย 2 สมการ คือ สมการการตัดสินใจลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ประมาณการด้วยแบบจำลองโพรบิท (Probit Model) แบบ Random Effects และสมการค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาประมาณการด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุดแบบจำลอง Random Effects ผลการศึกษาพบว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศกับกิจกรรมทางด้านวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์ได้ กล่าวคือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายอุตสาหกรรมมีทิศทางเดียวกันแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อการตัดสินใจทำวิจัยและพัฒนา ส่วนในด้านความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศกับค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาพบว่ามีทิศทางตรงกันข้ามแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อกิจกรรมวิจัยและพัฒนา พบว่าขนาดบริษัท สัดส่วนการส่งออก และสัดส่วนทุนมนุษย์มีอิทธิพลในทิศทางเดียวกันกับการตัดสินใจ แต่ภาระหนี้สินของบริษัทมีอิทธิพลในทิศทางตรงกันข้าม ในขณะที่สัดส่วนผู้ถือหุ้นโดยชาวต่างชาติและอายุเครื่องจักรไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา พบว่า ขนาดบริษัทและสัดส่วนทุนมนุษย์มีอิทธิพลในทิศทางเดียวกันกับค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา แต่ภาระหนี้สินมีอิทธิพลในทิศทางตรงกันข้าม ในขณะที่สัดส่วนผู้ถือหุ้นโดยชาวต่างชาติและสัดส่วนการส่งออกไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ลักษณะอุตสาหกรรมบางประเภทมีอิทธิพลต่อค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา