Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาประวัติและผลงานนาฏยศิลป์ ของ คุณครูไพฑูรย์ เข้มแข็ง นาฏยศิลปินชั้นนำของประเทศไทย ที่เป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดนาฏยศิลป์โขนแบบหลวงมาโดยตลอด ระยะเวลากว่า ๔๐ ปี และเพื่อศึกษากลวิธีการแสดงบทพระราม ตอน นางลอย ของ คุณครูไพฑูรย์ เข้มแข็ง โดยเฉพาะบท กระทู้คือการรำทำบทที่ผู้รำกับผู้พากย์มิได้นัดหมายกันมาก่อน วิธีวิจัยใช้การสัมภาษณ์ทางลึกกับคุณครูไพฑูรย์ เข้มแข็ง และผู้ทรงคุณวุฒิ จากการสังเกตการณ์การแสดง และจากประสบการณ์ของผู้วิจัย ที่เรียนเป็นพระราม แสดงเป็นพระราม และเป็นครูตัวพระรามรวมกว่า ๑๖ ปี ผลการวิจัยพบว่า คุณครูไพฑูรย์ เข้มแข็ง เข้าศึกษาที่วิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ คุณครูมีรูปร่าง และใบหน้าที่เหมาะสม อีกทั้งมีความสามารถในการรำที่งดงาม จึงได้แสดงเป็นตัวเอก มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน จนกระทั่งรับราชการในวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นครูผู้ฝึกซ้อมการแสดง รวมทั้ง ควบคุมการแสดงนาฏศิลป์ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานผู้ประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละคร ของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ และยังคงแสดงบทพระรามมาตลอด ผู้วิจัยยังพบว่า ผู้แสดงเป็นพระรามในบทกระทู้ ตอน นางลอย นั้น จะต้องมีประสบการณ์ ไหวพริบและปฏิภาณในการแสดงมากเป็นพิเศษในการดักคำพากย์ และดักท่าว่าจะใช้ท่าอะไรต่อไป โดยต้องศึกษาเรื่องราวในตอนที่จะแสดงหรือบทที่จะโต้ตอบกันอย่างกว้าง ๆ ก่อน ก็จะสามารถช่วยในการดักท่าในการตีบทได้เป็นอย่างดี การแสดงบางครั้งอาจตีบทไม่หมดทุกท่า เพราะจังหวะการพากย์เจรจาอาจช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน จึงใช้วิธีการรำตีบทลักษณะรวบคำที่มีความหมายเด่นชัดและสื่อความหมายชัดเจนมากที่สุด การแสดงกลวิธีการแสดงบทบาทพระรามในโขน จึงควรมีการศึกษาวิจัยให้ลุ่มลึก ให้เกิดองค์ความรู้ไปใช้ในทางวิชาการ และวิชาชีพอย่างเหมาะสมต่อไป