Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์นิยมเพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของผู้ต้องขังหญิงคดีฆาตกรรม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ต้องขังหญิงคดีฆาตกรรมในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ จำนวน 14 ราย ประสบการณ์ทางจิตใจของผู้ต้องขังหญิงคดีฆาตกรรมจากการวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านชนวนก่อเหตุฆาตกรรม: ก่อนลงมือก่อเหตุฆาตกรรมผู้ต้องขังหญิงคดีกล่าวถึงความรู้สึกกดดันในชีวิตซึ่งนำไปสู่ความโกรธและการลงมือฆ่าคู่กรณี การทำไปเพื่อป้องกันตัวและไม่มีเจตนาทำให้เสียชีวิต รวมถึงความรู้สึกลังเลใจและสับสนก่อนลงมือก่อเหตุ 2) ด้านเมื่อแรกรู้ว่าถูกจำคุก: เมื่อผู้ต้องขังหญิงคดีฆาตกรรมรับรู้ว่าตนเองถูกจำคุก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ ความตกใจอย่างรุนแรง ความหวั่นกลัวต่อเรือนจำ ความรู้สึกสูญเสียใหญ่หลวงในชีวิต ความกังวลเกี่ยวกับชีวิตในเรือนจำ ความเป็นห่วงสมาชิกในครอบครัว และการพยายามทำใจยอมรับ 3) ด้านความทุกข์ใจจากการถูกจองจำ: ผู้ต้องขังหญิงรู้สึกทุกข์ใจในด้านต่างๆ ได้แก่ ความทุกข์ใจจากการพลัดพรากจากครอบครัว ความทุกข์ใจจากกฎระเบียบในเรือนจำและการขาดอิสรภาพในชีวิต ความทุกข์ใจการไม่สามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ และความทุกข์ใจจากการอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า 4) ด้านการปรับตัวและปรับใจให้อยู่ได้ในเรือนจำ: ผู้ต้องขังหญิงปรับตัวเข้ากับชีวิตในเรือนจำโดยใช้กระบวนการทางความคิด พยายามทำกิจกรรมต่างๆ ในเรือนจำ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ต้องขังอื่น เปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อเอาตัวรอด รวมถึงการตระหนักถึงความหมายในชีวิต 5) ด้านความมุ่งหวังและความกังวลในอนาคต: ภายหลังจากพ้นโทษผู้ต้องขังหญิงมีความตั้งใจกลับออกไปทำงาน กลับไปอยู่บ้านและอยู่กับครอบครัว รวมถึงการบวชชีเพื่อชำระจิตใจ สำหรับประเด็นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับอนาคต ผู้ต้องขังขังหญิงมีความสับสนในอนาคต และกังวลเกี่ยวกับการยอมรับของสังคมและญาติพี่น้อง 6) ด้านบทเรียนที่ได้รับจากการถูกจองจำ: ผู้ต้องขังหญิงระบุว่าตนเองได้สำนึกถึงคุณค่าของครอบครัว มีการเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดีขึ้น ได้รับโอกาสทางการศึกษาและวิชาชีพ รวมถึงได้รับบทเรียนชีวิต ผลการวิจัยสามารถใช้เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจประสบการณ์ทางจิตใจของผู้ต้องขังหญิงคดีฆาตกรรมและนำไปใช้ประโยชน์ในการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับคนกลุ่มนี้ แต่การวิจัยครั้งนี้ทำขึ้นกับผู้ต้องขังหญิงคดีฆาตกรรมในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เท่านั้น ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดในการนำไปอ้างอิงกับผู้ต้องขังหญิงทั่วไป