Abstract:
งานวิจัยเรื่องกรรมวิธีการสร้างซอสามสายของครูวินิจ พุกสวัสดิ์ มีวัตถุประสงค์คือ ๑. ศึกษาประวัติการสร้างซอสามสายของครูวินิจ พุกสวัสดิ์ ๒. ศึกษากรรมวิธีการสร้างซอสามสายของครูวินิจ พุกสวัสดิ์ ๓. ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพเสียงซอสามสาย ของครูวินิจ พุกสวัสดิ์ โดยวิธีการเก็บข้อมูลการศึกษาภาคสนามระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๕๖ หลังจากผู้วิจัยได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ครูวินิจ พุกสวัสดิ์ เป็นเวลา ๑๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ครูวินิจ พุกสวัสดิ์เริ่มต้นฝึกกลึงซอสามสาย ซอด้วง และซออู้โดยเป็นลูกมือของครูประจิตต์ ชัยเจริญ ช่างซอและนักดนตรีที่มีชื่อเสียงในจังหวัดสมุทรสงคราม ครูวินิจได้รับความรู้วิธีการกลึงเข้าเกลียวต่อซอสามสายที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมของครูประจิตต์ ชัยเจริญ จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ครูวินิจ พุกสวัสดิ์ได้รับมอบหมายให้ซ่อมซอสามสายของหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดุริยชีวิน) จึงเก็บบันทึกสัดส่วนไว้เป็นต้นแบบ เมื่อครูประจิตต์ ชัยเจริญได้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ครูวินิจ พุกสวัสดิ์ ได้แยกออกมาประกอบกิจการของตนเอง และได้รับมอบหมายจากครูไมตรี พุ่มเสนาะ หัวหน้ากองดุริยางค์ทหารเรือให้สร้างซอสามสายตามรูปแบบของครูวินิจ พุกสวัสดิ์ ที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ตามทัศนะของท่าน ๓ ประการคือ
๑.สัดส่วนรูปทรงลูกบิด ๒. สัดส่วนช่วงของคันทวนซอสามสาย ๓. ขั้นตอนการขึ้นหน้าซอสามสาย ลักษณะเฉพาะในการสร้างซอสามสายของครูวินิจ พุกสวัสดิ์ คือการกลึงลูกแก้วท่อนยอด ลูกแก้วท่อนกลาง ลูกแก้วช่วงรูเสียบลูกบิด และลูกแก้วเท้าซอสามสาย (แข้งไก่) การลงใบมีดกลึงชิ้นงานที่แสดงถึงการเล่นระดับของลูกแก้ว ความละเอียดอ่อน ประณีตบรรจงของลูกแก้ว การกำหนดสัดส่วนของคันทวนซอสามสายแต่ละช่วงให้เหมาะสมกับทวนถมที่ใช้ การเก็บเนื้องาน การเคลือบแล็คเกอร์ไม่ให้เป็นลูกคลื่น การกลึงเข้าเกลียวโลหะซอสามสายที่สามารถเข้าเกลียวต่อกันได้อย่างแนบสนิทมั่นคง การออกแบบคันชักซอสามสายเพื่อสะดวกในการบรรเลงมากขึ้น ไม้เสริมหางม้าช่วงโคนคันชัก การออกแบบให้ปลายหัวคันชักด้านในไม่แนบติดกับหางม้าเพื่อการใช้ความยาวของหางม้าได้อย่างคุ้มค่า และไม่สะดุดเมื่อมีการบรรเลงบนสายซอที่มีการสียาวจนถึงช่วงปลาย ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงซอสามสายของครูวินิจ พุกสวัสดิ์ให้มีลักษณะเสียงโหยไห้ ไพเราะ นุ่มนวล มี ๘ ประการ คือ ๑. หนังแพะที่ขึ้นหน้าตึงและให้น้ำเสียงที่เหมาะสมกับซอสามสาย ๒. เชิงไม้ขนุนให้น้ำเสียงที่ไพเราะ ๓. กะลามะพร้าวซอที่มีโครงสร้างและมวลความหนาที่เหมาะสม ๔. สายซอต้องมีการควั่นเกลียวของหนวดพราหมณ์และสายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ๕. ระยะความกว้างของสายระหว่างรัดอกถึงหย่องเท่ากับ ๑๖ นิ้ว ๖. องศาของเหยียบกะโหลก (ปากช้างบน) เท่ากับ ๕ องศา และองศาหุ้มกะโหลก (ปากช้างล่าง) เท่ากับ ๓ องศาที่ไม่ให้เอียงมากเกินไป ๗. ระยะห่างความยาวของช่วงสายจากลูกบิดสายกลางถึงรูร้อยหนวดพราหมณ์มีระยะความกว้างเท่ากับ ๓๔ นิ้ว ๘. ช่างมีประสบการณ์คลุกคลีอยู่กับนักเล่นซอที่มีชื่อเสียงตั้งแต่เยาว์วัยทำให้เข้าใจในเรื่องเสียงของเครื่องดนตรี