Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาและรวบรวมประวัติสำนักพระยาภูมีเสวิ(จิตร จิตตเสวี)ศึกษาการถ่ายทอดวิธีการบรรเลงซอสามสาย สำนักพระยาภูมีเสวินและศึกษาบทเพลงที่ใช้เป็นแบบฝึกหัดพื้นฐานและกลวิธีที่พบในบทเพลงสำนักพระยาภูมีเสวิน ผลการวิจัยพบว่า สำนักพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) มีที่มาจาก สายราชสำนัก พระราชวงศ์จักรี และสายพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร)และได้รับการถ่ายทอดแนวคิดการประพันธ์ทางเดี่ยว จากพระยาประสานดุริยศัพท์(แปลก ประสานศัพท์) จึงทำให้เกิดแบบแผน การบรรเลงซอสามสายสำนักพระยาภูมีเสวิน(จิตร จิตตเสวี) อันมีเอกลักษณ์ ๔ ประการคือ มีท่าทาง การนั่งและการบรรเลงซอสามสายที่สง่างาม ทั้งการปักซอ การคอนซอ การจับคันชักและการพาดคันชัก มีการใช้นิ้วและคันชักอย่างมีระบบ มีการถ่ายทอดอย่างมีแบบแผน และมีทางเพลงที่มีความเรียบง่าย ปัจจุบันมีลูกศิษย์ที่ถ่ายทอดการบรรเลงซอสามสายสำนักพระยาภูมีเสวินจำนวน ๖ สาย การถ่ายทอดซอสามสาย สำนักพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี)พบว่ามีการถ่ายทอด ๒ ลักษณะคือ สีซอสามสายไปพร้อมกับลูกศิษย์ และการต่อเพลงแบบบอกด้วยปาก ซึ่งเป็นการต่อเพลงโดย ใช้ความจำล้วน ไม่มีการใช้โน้ต มีขั้นตอนการถ่ายทอด ๕ ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ ๑ ขั้นก่อนสอน ขั้นที่ ๒ ขั้นถ่ายทอดพื้นฐานการบรรเลง ขั้นที่ ๓ ขั้นประเมินผล ขั้นที่ ๔ ขั้นต่อเพลงเดี่ยวขั้นกลาง และขั้นที่ ๕ ขั้นต่อเพลงเดี่ยวขั้นสูง เอกลักษณ์ในการถ่ายทอดการบรรเลงซอสามสาย สำนักพระยาภูมีเสวิน คือ เน้นการสอนพื้นฐาน ให้มีท่าทางการบรรเลงที่สง่างาม และมีแบบฝึกหัดสำหรับการฝึกหัดซอสามสายขั้นพื้นฐาน ๒ บทเพลง ได้แก่ เพลงไล่นิ้ว และเพลงต้นเพลงฉิ่ง สามชั้น การถ่ายทอดบทเพลงในสำนักพระยาภูมีเสวิน (จิตร จิตตเสวี) จะมีลำดับในการเรียนอย่างเคร่งครัด โดยสามารถแบ่งบทเพลงออกเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ ๑ กลุ่มเพลงฝึกหัด กลุ่มที่ ๒ กลุ่มเพลงเดี่ยวขั้นพื้นฐาน กลุ่มที่ ๓ กลุ่มเพลงเดี่ยวขั้นกลาง กลุ่มที่ ๔ กลุ่มเพลงเดี่ยวขั้นสูง