Abstract:
ศึกษาถึงความสำคัญ วัตถุประสงค์ ปัญหา อุปสรรค และประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยนำทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สถาบันใหม่มาเป็นกรอบความคิดหลักในการศึกษา จากการศึกษาพบว่า พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มีความสำคัญในฐานที่เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาดุลยภาพ ระหว่างความต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศ และปัญหาที่เกิดจากการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 2 ประการคือ เพื่อจำกัดควบคุมผลกระทบภายนอกที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนจากต่างประเทศ โดยการจัดประเภทธุรกิจตามความหนักเบาของผลกระทบภายนอกและอำนาจการอนุมัติ และเพื่อบังคับควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น โดยการกำหนดเงื่อนไขการประกอบธุรกิจในประเทศไทย เช่น การร่วมทุน ทุนขั้นต่ำ การถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่มีประสิทธิผลในการบังคับใช้ที่ควรกล่าวคือ ในด้านการควบคุมผลกระทบภายนอกนั้น กฎหมายนี้ได้กำหนดคำนิยาม “คนต่างด้าว” โดยเปิดช่องให้มีการครอบงำการจัดการบริษัทไทยโดยคนต่างชาติได้ เนื่องจากมิได้ใช้หลักเกณฑ์ “การควบคุม” เข้ามาพิจารณาร่วมด้วย จึงทำให้การควบคุมผลกระทบภายนอกอันเกิดจากพฤติกรรมของคนต่างชาตินั้นไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ส่วนการบังคับควบคุมให้การลงทุนจากต่างประเทศเกิดประโยชน์มากขึ้นนั้น กฎหมายนี้มิได้กำหนดโครงสร้างสิ่งจูงใจเพื่อบังคับพฤติกรรมของคนต่างชาติ ให้มีการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากนัก ดังนั้น ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจึงไม่ชัดเจนและเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง
นอกจากนั้น ช่องว่างของคำนิยาม “คนต่างด้าว” ดังกล่าว ยังเป็นช่องทางในการอำพรางการถือหุ้นแทนกันเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายด้วย และแม้ว่าจะมีการถือหุ้นแทนกันเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายกันอย่างกว้างขวางมานานแล้ว แต่รัฐกลับไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากรัฐเกรงว่าอาจสูญเสียผลประโยชน์ที่เกิดจากการลงทุนจากต่างประเทศ อันเกิดจากถอนทุนหรือการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของคนต่างชาติ และรัฐยังต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษด้วย