Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ไม่มีตัวตนกับราคาหลักทรัพย์และกำไรในอนาคต การรวบรวมข้อมูลจากของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2544-2549 ยกเว้น กลุ่มธุรกิจการเงิน และบริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการพบกลุ่มตัวอย่างจำนวน 228 บริษัท คิดเป็นข้อมูลในการศึกษา 878 ข้อมูล ซึ่งใช้วิธีการวิเคราะห์ทางสถิติออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) สถิติเชิงพรรณนาเป็นการทดสอบข้อมูลให้อยู่ในรูปของการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (2) สถิติเชิงอนุมาน เป็นการทดสอบสมมติฐานด้วยเทคนิคการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ ณ ระดับความเชื่อมั่นที่ 95% เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ไม่มีตัวตนกับราคาหลักทรัพย์และกำไรในอนาคตโดยมีสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิและกำไรในงวดปัจจุบัน เป็นตัวแปรควบคุม
ผลการวิจัยพบว่า (1) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนทั้งที่ระบุได้และระบุไม่ได้ (ค่าความนิยม) ที่มีการรับรู้และแสดงอยู่ในงบการเงิน ณ งวดปัจจุบันมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับราคาหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดว่า สินทรัพย์ไม่มีตัวตนมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการกำหนดราคาหลักทรัพย์ของนักลงทุน และ (2) สินทรัพย์ไม่มีตัวตนมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับกำไรในอนาคต โดยค่าความนิยมซึ่งเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนประเภทไม่สามารถระบุได้จะสามารถอธิบายผลตอบแทนของกิจการได้ตลอดทั้ง 3 ปี ภายหลังจากที่มีการนำเสนอข้อมูล ในขณะที่รายการสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ระบุได้สามารถพยากรณ์ผลการดำเนินงานในอนาคตของกิจการได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ คือ 1ปี หลังจากการนำเสนอข้อมูลเท่านั้น จากผลการศึกษากล่าวได้ว่า รายการสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเป็นข้อมูลที่สามารถสะท้อนผลการดำเนินงานในอนาคตของกิจการได้และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจของผู้ใช้งบการเงิน