Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ ศึกษาหาชนิดของยีนที่อาจเกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อทางเดินปัสสาวะของ uropathogenic Escherichia coli (uropathogenic E. coli, UPEC) และความสัมพันธ์ของยีนดังกล่าวกับอาการปัสสาวะเป็นเลือด หาความชุกของการติดเชื้อ UPEC และหาความไวรับต่อยาต้านจุลชีพของ UPEC ในสุนัขที่มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ทำการศึกษาโดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะจากสุนัขที่เข้ารับการรักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวนทั้งสิ้น 105 ตัว ทำการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ เพาะเชื้อปัสสาวะ ทำการหาชนิดของยีนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อทางเดินปัสสาวะด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่โพลิเมอร์เรส แบบมัลติเพลกซ์ และทำการทดสอบความไวรับต่อยาต้านจุลชีพโดยวิธี agar dilution ผลการศึกษาพบว่า สุนัขเพศเมียที่ได้รับการทำหมันมีการติดเชื้อ E. coli ในทางเดินปัสสาวะมากที่สุด สุนัขป่วยจะแสดงอาการผิดปกติคือ ปัสสาวะเป็นเลือด สุนัขที่มีการติดเชื้อ E. coli ในทางเดินปัสสาวะมีค่าเฉลี่ยของความถ่วงจำเพาะ กลูโคส เลือด และระดับเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะสูงกว่าสุนัขที่ไม่มีการติดเชื้อ E. coli ในทางเดินปัสสาวะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อทำการเพาะเชื้อปัสสาวะพบ UPEC 21 ไอโซเลท ทุกไอโซเลทมียีนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อทางเดินปัสสาวะอย่างน้อย 1 ชนิด และพบว่ายีน aer มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ E. coli ในทางเดินปัสสาวะอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) เมื่อทำการทดสอบความไวรับต่อยาต้านจุลชีพ โดยการหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดของยาต้านจุลชีพที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ พบว่า UPEC มีความไวต่อ amikacin (ร้อยละ 100) และ ceftriazone (ร้อยละ 42.9) ตามลำดับ และดื้อต่อ amoxicillin และ ampicillin มากที่สุดคือ ร้อยละ 100 อันดับถัดมาได้แก่ trimethoprim/sulphamethoxazole (ร้อยละ 81), doxycycline (ร้อยละ 76.2), enrofloxacin (ร้อยละ 71.4), cephazolin (ร้อยละ 66.7), norfloxacin (ร้อยละ 61.9) และ gentamicin (ร้อยละ 52.4) ตามลำดับ จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า UPEC เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ โดยยีนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อทางเดินปัสสาวะ เช่น ยีน aer, cnf, pap และ sfa บ่งบอกการแสดงออกของ pathogenicity islands (PAIs) และอาจมีส่วนเพิ่มความรุนแรงของการติดเชื้อ UPEC