Abstract:
การวิจัยเรื่อง บทบาทหนุมานลงสรงในการแสดงโขน มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อศึกษาองค์ประกอบหลักและแนวทางในการประดิษฐ์ท่ารำ และบทบาทการแสดงชุดหนุมานลงสรง ซึ่งเป็นการรำเดี่ยวเพื่ออวดฝีมือของผู้แสดง นับว่าเป็นกระบวนท่ารำที่ต้องใช้ทักษะความสามารถในการรำเป็นอย่างสูง ผู้วิจัยได้รับการถ่ายทอดกระบวนท่ารำจากอาจารย์ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขนลิง) ปี พ.ศ. 2551 จากผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการแสดงรำลงสรงเป็นการแสดงการอาบน้ำแต่งกายของตัวละครที่เป็นกษัตริย์ หรือเชื้อพระวงศ์ โดยมีจุดประสงค์ในการลงสรงแตกต่างกันไป เช่น การอาบน้ำตอนเช้าตื่นนอน การอาบน้ำก่อนเข้านอน การอาบน้ำก่อนออกเดินทาง การอาบน้ำก่อนขึ้นเฝ้าเจ้านายหรือกษัตริย์ การอาบน้ำเพื่อเข้าประกอบพิธีกรรม การอาบน้ำก่อนเข้าหานางอันเป็นที่รัก และการอาบน้ำก่อนออกไปทำศึกสงคราม การแสดงรำลงสรง แสดงให้เห็นถึงสุนทรียะในด้านต่าง ๆ เช่น บทร้อง เครื่องแต่งกาย กระบวนท่ารำ และทักษะความสามารถในการถ่ายทอดกระบวนท่ารำของผู้แสดง กระบวนท่ารำลงสรงนั้น จะเป็นลักษณะ การรำตีบทถึงการอาบน้ำ การแต่งกาย และการสวมใส่เครื่องประดับ แบ่งขั้นตอนการแสดงออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ขั้นตอนการลงสรง 2. ขั้นตอนการทรงสุคนธ์ 3. ขั้นตอนการทรงเครื่อง ในการแสดงรำลงสรงนี้อาจมีไม่ครบทั้ง 3 ขั้นตอนก็ได้ แต่จะต้องมีขั้นตอนการทรงเครื่อง เพราะเป็นหัวใจหลักของการรำลงสรงเพื่อแสดงถึงความสวยงามของเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับที่สวมใส่ หนุมานลงสรง เป็นการแสดงเกี่ยวกับการอาบน้ำและการแต่งกายของหนุมาน ในขณะที่ดำรงตำแหน่งมหาอุปราชกรุงลงกา ซึ่งปรากฏกระบวนท่ารำในขั้นตอนที่ 2 และ 3 เครื่องแต่งกายในการแสดงจะแต่งกายยืนเครื่องยักษ์สีเขียวขลิบแดง สวมมงกุฎยอดเดินหน เพลงที่ใช้ขับร้องประกอบการแสดงใช้เพลงลงสรงโทน และใช้วงดนตรีปี่พาทย์ไม้แข็งบรรเลงประกอบการแสดง ลักษณะกระบวนท่ารำเป็นการรำตีบท โครงสร้างกระบวนท่ารำมีลักษณะการผสมผสานระหว่างท่ารำของโขนลิงและท่ารำของละครเข้าด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญา ทักษะ ความรู้ความสามารถของผู้ประดิษฐ์ท่ารำ นอกจากนี้การแสดงชุดหนุมานลงสรง ยังสื่อให้เห็นถึงบริบทของสังคมไทยที่มีความเชื่อในเรื่องของอาบน้ำก่อนทำการใด ๆ เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดของร่างกายและเป็นการเสริมสร้างสง่าราศีและสิริมงคลให้กับตนเองด้วย