Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับทัศนคติของประชากรอายุ 18-59 ปี ที่มีต่อผู้สูงอายุ รวมทั้งค้นหาปัจจัยที่มีผลต่อการแปรผันของทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุ โดยได้รับการอนุเคราะห์ข้อมูลจากโครงการ “สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความรู้และทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุ พ.ศ. 2550” ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีประชากรตัวอย่างทั้งสิ้น 9,000 ราย ผลการศึกษาพบว่า มากกว่าครึ่งของประชากรตัวอย่างมีทัศนคติทางบวกต่อผู้สูงอายุ ผลการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ถดถอยพหุแบบขั้นตอน แสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่มีผลต่อการแปรผันของทัศนคติของประชากรอายุ 18-59 ปี ที่มีต่อผู้สูงอายุมากที่สุดคือ ความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในวัยสูงอายุ ซึ่งสามารถอธิบายการแปรผันของทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุได้ดีที่สุด (ร้อยละ 7.5) รองลงมาคือ ตัวแปรระดับการศึกษา การอยู่อาศัยในภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) รายได้ครัวเรือน และการอยู่อาศัยในภาคใต้ ส่วนตัวแปรความรู้ด้านวงจรชีวิตและกระบวนการชรา สามารถเพิ่มอำนาจการอธิบายการแปรผันของทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และเป็นความสัมพันธ์ทางลบกับทัศนคติดังกล่าว