Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของไอระเหยของสารประกอบซัลเฟอร์กับแบคทีเรียไม่ใช้อากาศในผู้ป่วยจัดฟันไทย ก่อนและหลังการติดเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น วัสดุและวิธีการ ศึกษาในผู้ป่วยไทยที่มารับบริการจากคลินิกภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันต-แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 46 ราย (เพศชาย 16 ราย เพศหญิง 30 ราย อายุเฉลี่ย 18.5±5.3 ปี) โดยเก็บข้อมูล 2 ครั้ง คือ ก่อนติดเครื่องมือและหลังการติดเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่นไปแล้ว 4.5±0.7 เดือน การเก็บข้อมูลแต่ละครั้งประกอบด้วย การวัดระดับความเข้มข้นของไอระเหยของสารประกอบซัลเฟอร์ในช่องปาก ซึ่งได้แก่ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ เมทิลเมอแคปแทน และไดเมทิลซัลไฟด์ ด้วยเครื่องตรวจวัดกลิ่นปากยี่ห้อออรัลโครมา และการเก็บคราบจุลินทรีย์เหนือเหงือกและใต้เหงือกของผู้ป่วยไปตรวจหาแบคทีเรียไม่ใช้อากาศ 5 ชนิด ได้แก่ Prevotella intermedia (P.i.), Porphyromonas gingivalis (P.g.), Fusobacterium nucleatum (F.n.), Tannerella forsythia (T.f.) และ Aggregatibacter actinomycetemcomitans (A.a.) ด้วยวิธีพีซีอาร์
ผลการศึกษา ภายหลังการติดเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น พบว่า ระดับความเข้มข้นของไดเมทิลซัลไฟด์และไอระเหยของสารประกอบซัลเฟอร์รวม มีค่าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพีเท่ากับ .019 และ .024 ตามลำดับ) ในขณะที่ไฮโดรเจนซัลไฟด์และเมทิลเมอแคปแทนมีค่าสูงขึ้น แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ความชุกของ A.a. เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพีเท่ากับ .031) ในขณะที่ความชุกของ F.n. และ T.f. เพิ่มขึ้นแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยที่มีและไม่มี F.n. ก่อนและหลังการติดเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น พบว่า ระดับความเข้มข้นของไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการติดเครื่องมือ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพีเท่ากับ .018) ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบผู้ป่วยที่มีและไม่มี A.a. ก่อนและหลังการติดเครื่องมือ พบว่า ระดับความเข้มข้นของไดเมทิลซัลไฟด์ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการติดเครื่องมือ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพีเท่ากับ .036) อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้ยังไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระหว่างไอระเหยของสารประกอบซัลเฟอร์กับการพบแบคทีเรียไม่ใช้อากาศทั้ง 5 ชนิด ก่อนและหลังการติดเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น สรุป หลังการติดเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น ระดับความเข้มข้นของไดเมทิลซัลไฟด์และไอระเหยของสารประกอบซัลเฟอร์รวมเพิ่มขึ้น ความชุกของ A.a. เพิ่มขึ้น F.n. และ A.a. มีผลต่อระดับความเข้มข้นของไฮโดรเจนซัลไฟด์และไดเมทิลซัลไฟด์ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการติดเครื่องมือตามลำดับ ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างไอระเหยของสารประกอบซัลเฟอร์กับการพบแบคทีเรียไม่ใช้อากาศทั้ง 5 ชนิด ก่อนและหลังการติดเครื่องมือ