Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเมืองเชียงคาน พ.ศ. 2454 – 2555 โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแบบพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) ผลการศึกษาพบว่าเศรษฐกิจเมืองเชียงคานมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจแบบพอยังชีพกลายเป็นเศรษฐกิจแบบการค้าที่ขยายตัวจากการเข้ามาของกลุ่มพ่อค้าคนจีน และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและเส้นทางคมนาคมโดยเฉพาะถนนที่เข้าสู่เมืองเชียงคานได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของเมืองอย่างแท้จริงในช่วงก่อนปี พ.ศ.2518 แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน (ช่วงสงครามอินโดจีน) ส่งผลสำคัญให้เศรษฐกิจการค้าที่พึ่งพาฝั่งลาวหยุดชะงัก ในขณะที่เศรษฐกิจการเกษตรที่เน้นการปลูกพืชไร่เชิงพาณิชย์จากนโยบายของรัฐได้เข้ามาทดแทนภาคการค้าที่ลดลง แต่ก็ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเชียงคานมีการขยายตัวมากเท่าในอดีต จนกระทั่งกระแสการท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์และการท่องเที่ยววัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลต่อจากการท่องเที่ยวเมืองปาย เริ่มขึ้นและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานในพื้นที่ทำให้เศรษฐกิจเมืองเชียงคานฟื้นขึ้นมาอีกครั้งโดยผลประโยชน์ส่วนใหญ่ยังตกอยู่กับคนเชียงคานเป็นหลักทุนจากภายนอกยังคงไม่สามารถเข้ามาได้เต็มที่เนื่องจากความเข้มแข็งของทุนภายในที่ถูกสะสมมาตั้งแต่ยุคการค้า จึงทำให้ชาวเชียงคานยังคงได้รับประโยชน์ร่วมจากการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น แต่การท่องเที่ยวที่เข้ามาอย่างรวดเร็วได้เริ่มสร้างปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อื่น