Abstract:
ปัจจุบัน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) เข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยการนำผลผลิตจากภาคการเกษตร อาทิ ผลผลิตจากพืช ปศุสัตว์ และประมง มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต แต่ในการดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น โดยปัจจัยที่มีความสำคัญต่อธุรกิจมากที่สุด คือ เงินทุน ซึ่งเป็นปัญหาหลักด้านการเงินของ SMEs การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินนโยบายส่งเสริมด้านการเงินให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลแบบ Pooled Cross section Data ซึ่งใช้ข้อมูลรายปีตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ถึง 2554 และประมาณสมการโดยวิธี OLS (Ordinary Least Square) ผลจากการศึกษา พบว่า การสนับสนุนด้านการเงินให้กับ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจะช่วยให้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจดีขึ้น แต่เนื่องจากปัญหาด้านโครงสร้างของภาครัฐ ประกอบกับ การขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งผลให้การสนับสนุนด้านการเงินของภาครัฐผ่านสถาบันการเงินไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดยสอดคล้องกับผลการศึกษาจากแบบจำลองทางเศรษฐมิติ กล่าวคือ ปริมาณสินเชื่อที่รัฐให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจ อายุการดำเนินงานของธุรกิจ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ส่งผลต่อศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐควรคัดกรองธุรกิจที่จะให้สินเชื่อ และมีมาตรการเฉพาะในการส่งเสริม SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นและเพื่อให้ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เป็นภาคการผลิตที่สำคัญต่อประเทศไทยในอนาคต