Abstract:
การศึกษานี้ศึกษาความต้องการทำงานของผู้สูงอายุ และค้นหาตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อความต้องการทำงานของผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2550 แหล่งที่มาของข้อมูลได้รับความอนุเคราะห์จากโครงการ“การสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2550” ดำเนินการโดยสำนักสถิติสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ การเลือกตัวอย่างเป็นแบบสองขั้นตอน โดยผู้วิจัยคัดเลือกเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ตอบแบบสัมภาษณ์ด้วยตนเองได้จำนวนตัวอย่าง 19,962 ราย ผลการศึกษา พบว่าผู้สูงอายุที่เป็นตัวอย่างร้อยละ 38.2 มีความต้องการทำงานภายหลังจากที่อายุครบ 60 ปีแล้ว ผลการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกทวิภาคแบบง่าย พบว่า เพศ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส ภาคที่อยู่อาศัย เขตที่อยู่อาศัย ประวัติการรับราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ภาวะสุขภาพ การเป็นเจ้าของบ้าน สถานะการอยู่อาศัยในครัวเรือน ภาวะหนี้สิน รายได้ ความเพียงพอของรายได้ การออมหรือมีทรัพย์สินอื่น จำนวนบุตร จำนวนสมาชิกในครัวเรือน การอ่านออกเขียนได้ และความคาดหวังในการได้รับการช่วยเหลือด้านการเงิน มีอิทธิพลต่อความต้องการทำงานแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ส่วนการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกทวิภาคแบบพหุ พบว่าที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ตัวแปรทั้ง 18 ตัวข้างต้นร่วมกันอธิบายการแปรผันของความต้องการทำงานของผู้สูงอายุได้ร้อยละ 27.6 (R² = 0.276) นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกทวิภาคแบบพหุขั้นตอน พบว่าอายุเป็นตัวแปรที่สามารถอธิบายการแปรผันของความต้องการทำงานของผู้สูงอายุได้เป็นลำดับแรก คือ ร้อยละ 10.6 รองลงไปได้แก่ภาวะหนี้สิน เพศ ภาคที่อยู่อาศัย ภาวะสุขภาพ ประวัติการรับราชการหรือรัฐวิสาหกิจ รายได้ สถานะการอยู่อาศัยในครัวเรือน สถานภาพสมรส จำนวนบุตร ระดับการศึกษา ความเพียงพอของรายได้ จำนวนสมาชิกในครัวเรือน เขตที่อยู่อาศัย การเป็นเจ้าของบ้าน และการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งสามารถเพิ่มอำนาจการอธิบายการแปรผันของความต้องการทำงานได้ร้อยละ 4, 2.9, 1.8, 1.5, 1.3, 1.4, 1.3, 0.6, 0.4, 0.5, 0.4, 0.4, 0.2, 0.3 และ 0.0003 ตามลำดับ ส่วนตัวแปรอิสระอีก 2 ตัว คือการออมหรือมีทรัพย์สินอื่นและความคาดหวังในการได้รับการช่วยเหลือด้านการเงิน ไม่ได้เพิ่มอำนาจการอธิบายความต้องการทำงานของผู้สูงอายุที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05