Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) การพัฒนาทุนมนุษย์ หลังย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศไทย (2) ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ (3) แผนการย้ายถิ่นในอนาคต และ (4) ความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาทุนมนุษย์กับการวางแผนย้ายถิ่นในอนาคต ของแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา โดยอาศัยวิธีการวิจัยแบบผสมผสานหลายขั้นตอนอย่างมีลำดับ (Multi-Stage Sequential Mixed Methods) เริ่มจากการวิจัยเอกสาร นำไปสู่การวิจัยนำร่องเชิงคุณภาพ และขั้นต่อไปคือ การวิจัยเชิงสำรวจและการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 – กรกฎาคม 2557 ได้กลุ่มตัวอย่างจากการเก็บแบบสอบถามรวมทั้งสิ้น 1,207 คน และการสัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 32 คน สำหรับกลุ่มตัวอย่าง คือ แรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือ ทั้งที่มีใบอนุญาตทำงานและไม่มีใบอนุญาตทำงาน ใน 6 ประเภทกิจการที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานกระจุกตัวอยู่มากที่สุด ได้แก่ กิจการประมง กิจการต่อเนื่องประมง เกษตรกรรม/ปศุสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิต กิจการก่อสร้าง และงานบริการ และเป็นแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ชั้นในของประเทศและเป็นที่ตั้งของชุมชนแรงงานข้ามชาติขนาดใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี ขอนแก่น และนครราชสีมา นอกจากนี้ ยังมีการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์หลายตัวแปร (Multivariate analysis) ผสมผสานกับข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาแบ่งออก 4 ส่วนสำคัญ ดังนี้ (1) เมื่อพิจารณาระดับการพัฒนาทุนมนุษย์ด้วยดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์โดยรวมซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ด้านคือ การพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาไทย การพัฒนาความสามารถในการทำงาน และการดูแลและส่งเสริมสุขภาพ พบว่า แรงงานลาวมีสัดส่วนของผู้ที่มีการพัฒนาทุนมนุษย์ในระดับสูงมากที่สุด รองลงมา คือ พม่า และกัมพูชา และ (2) เมื่อใช้วิธีการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกแบบ 2 กลุ่ม พบว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ การเป็นแรงงานสัญชาติพม่า การมีเพื่อนร่วมงานคนไทย การมีใบอนุญาตทำงาน ระยะเวลาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย และรายได้ต่อเดือนที่เพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาอิทธิพลร่วมของสัญชาติกับการมีเพื่อนร่วมงานคนไทยหรือการมีใบอนุญาตทำงาน เห็นได้ชัดว่าแรงงานสัญชาติลาวที่มีเพื่อนร่วมงานคนไทย หรือแรงงานสัญชาติลาวที่มีใบอนุญาตทำงาน จะยิ่งมีโอกาสพัฒนาทุนมนุษย์ในระดับสูงมากขึ้น โดยข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่าการสร้างทุนทางสังคมในพื้นที่ปลายทางของแรงงานข้ามชาติ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทุนมนุษย์หลังย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศไทย (3) การวางแผนย้ายถิ่นในอนาคตของแรงงานสัญชาติพม่าและกัมพูชาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ประมาณร้อยละ 40 ยังไม่ได้ตัดสินใจวางแผนย้ายถิ่นในอนาคต รองลงมาคือ ย้ายถิ่นกลับประเทศต้นทาง และตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศไทยตามลำดับ ส่วนแรงงานสัญชาติลาวมากกว่าครึ่งวางแผนตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศไทย รองลงมาคือ ยังไม่ได้ตัดสินใจ และย้ายถิ่นกลับประเทศต้นทาง (4) จากการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกแบบหลายกลุ่ม และควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอิสระอื่นๆ แล้ว พบว่า การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแผนการย้ายถิ่นในอนาคตของแรงงานข้ามชาติ โดยพบว่า แรงงานสัญชาติลาวที่มีการพัฒนาทุนมนุษย์ในระดับสูงจะมีแนวโน้มตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยมากกว่าย้ายถิ่นกลับและที่ยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (Pseudo R2=0.392) สำหรับแรงงานสัญชาติพม่าที่มีการพัฒนาทุนมนุษย์ในระดับสูงกลับมีแนวโน้มวางแผนย้ายถิ่นกลับประเทศต้นทางมากกว่าทางเลือกอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (Pseudo R2=0.190) ส่วนแรงงานสัญชาติกัมพูชาที่มีการพัฒนาทุนมนุษย์ในระดับสูงจะมีแนวโน้มย้ายถิ่นกลับน้อยกว่ายังไม่ได้ตัดสินใจ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (Pseudo R2=0.151) ซึ่งสะท้อนความเป็นไปได้ที่แรงงานข้ามชาติสัญชาติกัมพูชากลุ่มนี้จะวางแผนตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยต่อไปในอนาคต และเมื่อทดสอบ Likelihood Ratio Test แล้วพบว่าตัวแปรการพัฒนาทุนมนุษย์ที่เพิ่มเข้าไปในแบบจำลองสามารถเพิ่มอำนาจในการอธิบายการตัดสินใจวางแผนการย้ายถิ่นในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งข้อค้นพบดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่ากลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนการย้ายถิ่นระหว่างประเทศในอนาคต นอกเหนือไปจากปัจจัยเชิงเศรษฐกิจแล้วคือ ปัจจัยด้านทุนมนุษย์ ที่ผู้ย้ายถิ่นพัฒนาขึ้นในประเทศปลายทาง ดังนั้น ประเทศต้นทางและปลายทางควรสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ โดยสนับสนุนให้เกิดการไหลเวียนของทุนมนุษย์ในภูมิภาค (human capital circulation) เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากการย้ายถิ่นระหว่างประเทศนี้