Abstract:
งานวิจัยเรื่องสถานภาพของนักดนตรีปี่มวยในสนามมวยลุมพินี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของนักดนตรีปี่มวยสนามมวยลุมพินี รวมถึงบทบาทความสำคัญและสถานภาพของนักดนตรีปี่มวยที่สนามมวยลุมพินีในปี พ.ศ. 2499 ถึง พ.ศ.2557 สถานภาพของนักดนตรีปี่มวยลุมพินีจำแนกได้เป็น 2 ช่วงคือ ช่วง พ.ศ. 2499 ถึง พ.ศ. 2535 นักดนตรีปี่มวยของสนามมวยลุมพินี มีสถานะเป็นข้าราชการของกองดุริยางค์ทหารบก จนในปี พ.ศ. 2519 เกิดปัญหารายได้ในการดำรงชีพ จึงทำให้นักดนตรีปี่มวยลาออก ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบในการทำงาน เพิ่มรายได้ และเพิ่มจำนวนนักดนตรีปี่มวยเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ ทำให้นักดนตรีปี่มวยสนามมวยลุมพินีมีสถานภาพดีขึ้น ช่วง พ.ศ. 2536 ถึง พ.ศ.2557 กองดุริยางค์ทหารบกขาดแคลนผู้มีความสามารถในการเป่าปี่มวย จึงรับนักดนตรีปี่มวยพลเรือนเข้ามาทำหน้าที่นักดนตรีปี่มวยสนามมวยลุมพินีนับแต่นั้น กลวิธีในการบรรเลงของวงดนตรีปี่มวยสนามมวยลุมพินี ส่วนมากแบบแผนในการบรรเลงจะเป็นสิ่งที่นักดนตรีปี่มวยปฏิบัติสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนการคัดเลือกเพลงเป็นการคัดเลือกตามแบบแผนส่วนหนึ่ง และตามไหวพริบปฏิภาณของผู้ที่เป็นนักดนตรีปี่มวยอีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้อาจมีเซียนมวยหรือโปรโมเตอร์ขอให้บรรเลงเพลงที่ได้รับความนิยมตามยุคสมัยในบางครั้ง นักดนตรีปี่มวยสนามมวยลุมพินี เป็นนักดนตรีที่ได้รับการยกย่องจากวงวิชาชีพดนตรีว่ามีฝีมือความสามารถ และสืบทอดแบบแผนการบรรเลงปี่มวยตามขนบ จึงมีบทบาทเป็นที่ยอมรับถึงปัจจุบัน เห็นได้จากการได้รับเชิญให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่จัดการแข่งขันมวยไทยต่างๆ อยู่เสมอ