Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนทางด้านความมั่นคงในยุคหลังสงครามเย็น โดยศึกษากรณีที่จีนเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum-ARF) ซึ่งเป็นเวทีการประชุมแบบพหุภาคี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ จีนยืนกรานที่จะใช้เวทีการเจรจาแบบทวิภาคีในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เนื่องจากจีนเชื่อว่า ตนจะได้เปรียบในการเจรจาต่อรองเหนือคู่เจรจาซึ่งเป็นประเทศที่เล็กกว่าในเวทีดังกล่าว ในขณะที่การเจรจาในกรอบของพหุภาคีนั้น จีนเป็นกังวลกับการต่อรองกับหลายประเทศในเวลาเดียวกัน ในการศึกษาเรื่องนี้ ได้อาศัยแนวคิดเรื่องวิถีปฏิบัติระหว่างประเทศมาอธิบายถึงสาเหตุที่จีนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว จากการศึกษาพบว่า จีนมีความจำเป็นต้องเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากต้องการลดความหวาดระแวงของอาเซียนต่อจีน ซึ่งเป็นผลมาจากท่าทีที่แข็งกร้าวในกรณีปัญหาการแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์และการพัฒนาศักยภาพทางทหารของจีน อันเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การจัดตั้งการประชุมดังกล่าว นอกจากนั้น จีนยังต้องการที่จะป้องกันการรวมกลุ่มระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (ในขณะนั้น) เวียดนามเพื่อต่อรองกับจีนเรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์ และจีนยังต้องการที่จะลดอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ในเวทีการเจรจาปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคอีกด้วย หลังจากการเข้าร่วม ARF จีนได้รับประโยชน์หลายประการ เช่น ได้รับทราบข้อมูลทางด้าน ความมั่นคง และสามารถผลักดันให้การประชุมดังกล่าวเป็นเพียงเวทีการเจรจามากกว่าจะเป็นกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงอย่างถาวร แต่อย่างไรก็ตาม การที่จีนเข้าร่วม ARF ทำให้การประชุม ARF มีความสำคัญต่อการเจรจาปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้อาเซียนมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศมหาอำนาจ