Abstract:
งานวิจัยมีวัตถุประสงเพื่อนี้ศึกษาผลของการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มต่อเจตคติรังเกียจกลุ่ม การศึกษาที่ 1 ทดสอบผลของการจินตนาการต่อเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบเด่นชัดของชาวไทยต่อชาวกัมพูชา และศึกษาตัวแปรส่งผ่าน 4 ตัวได้แก่ ความไว้วางใจคนนอกกลุ่ม ความวิตกกังวลต่อคนนอกกลุ่ม การระบุสาเหตุว่าตนชอบติดต่อคนนอกกลุ่ม และการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของคนนอกกลุ่ม นักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวน 182 คน จินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับชาวกัมพูชา หรือ จินตนาการถึงธรรมชาติ (กลุ่มควบคุม) แล้วตอบมาตรวัดตัวแปรส่งผ่านและตัวแปรตาม ผลการวิเคราะห์บูทแสตรป พบว่าการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับชาวกัมพูชามีอิทธิพลทางอ้อมทางลบในการลดเจตคติรังเกียจชาวกัมพูชา ผ่านการเพิ่มความไว้วางใจชาวกัมพูชา การลดความวิตกกังวลในการติดต่อกับชาวกัมพูชา และการระบุสาเหตุว่าตนชอบติดต่อชาวกัมพูชา ในขณะที่การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของคนนอกกลุ่ม ไม่เป็นตัวแปรส่งผ่าน การจินตนาการไม่มีอิทธิพลทางตรงต่อการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบเด่นชัด การศึกษาที่ 2 ทดสอบผลของการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มต่อการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบแอบแฝง นักศึกษามหาวิทยาลัย 60 คนได้รับการจัดกระทำการจินตนาการเช่นเดียวกับการศึกษาที่ 1 ก่อนรับการทดสอบการเชื่อมโยงแอบแฝงเพื่อวัดเจตคติรังเกียจชาวกัมพูชาแบบแอบแฝง ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มที่จินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับชาวมีคะแนนเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบแอบแฝงต่ำกว่ากลุ่มที่จินตนาการถึงธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การวิจัยนี้ค้นพบเป็นครั้งแรกว่าการจินตนาการถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มเป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการลดการรังเกียจกลุ่มทั้งแบบเด่นชัดและแบบแอบแฝงของชาวไทย