Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้มีความประสงค์ที่จะศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กับการเมืองในชีวิตประจำวันของชาวบ้านผ่านการแสดงออกทางการเมืองในมิติต่างๆ ซึ่งมีพื้นที่กรณีศึกษาเป็นหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง ในตำบลนิลเพชร อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม โดยผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดขึ้นมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ทางการเมืองในชีวิตประจำวันของประชาชนในชนบทอย่างมีนัยสำคัญ คือ มีปฏิสัมพันธ์กับ “ความปรารถนาและเจตจำนง ” ที่เป็นกรอบโครงกำกับความคิดอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ที่พัฒนารูปแบบจาก “เศรษฐธรรมแบบพอมีพอกิน” ไปสู่ “เศรษฐธรรมแบบพึงมีพึงได้”รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับ “หลักประกันแห่งการยังชีพ” ก็ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มักปรากฏอยู่ในรูปวิถีการผลิตทางการเกษตรเพื่อบริโภคในครัวเรือนไปสู่ปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาชนบทตามที่ชาวบ้านปรารถนาหรือคาดหวังเอาไว้แทน นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังมีปฏิสัมพันธ์กับปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวันของคนชนบทด้วยเช่นกัน เนื่องจากเมื่อความปรารถนาของชาวบ้านที่เป็นกรอบโครงกำกับปฏิบัติการทางการเมืองของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การแสดงออกทางการเมืองของพวกเขาจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งเราสามารถพิจารณาการแสดงออกเหล่านั้นผ่านการจัดสรรทรัพยากร และคุณค่าทางการเมือง จากกลไกที่หลากหลาย ทั้งด้านการเมืองแบบการเลือกตั้งที่มีความสัมพันธ์กับธรรมนูญแห่งชนบท ด้านการจัดสรรทรัพยากร และคุณค่าทางการเมืองผ่านทางนโยบายสาธารณะหรือรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ด้านการประชุมประชาคม ซึ่งรวมถึงรูปแบบของการพูดคุย การโต้เถียง ความขัดแย้ง การตัดสินใจที่จะส่งผลต่อผลประโยชน์ของชุมชน ด้านรูปแบบของการตรวจสอบ กำกับ ประณาม และลงโทษนักการเมืองหากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และด้านความร่วมมือระหว่างปัจเจกบุคคล กลุ่มคน และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรร และการใช้ทรัพยากรที่สามารถส่งผลกระทบความเป็นอยู่ต่อชาวบ้านได้