Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) กระบวนการจัดทำงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลทรัพย์อนันต์มีกระบวนการในการจัดทำอย่างไร ประกอบด้วยวิธีการและขั้นตอนใดบ้าง (2) วิธีการและขั้นตอนของกระบวนการจัดทำงบประมาณดังกล่าวมีตัวแสดง (Policy Actors) ใดเป็นผู้มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมหลักต่อกระบวนการตัดสินใจในเชิงนโยบายของกระบวนการจัดทำงบประมาณ (3) ความสัมพันธ์ของนักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองระดับท้องถิ่นว่ามีความทับซ้อนหรือเกื้อหนุนกันอย่างไร วิธีการดำเนินการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) มีการสุ่มตัวอย่างประชากรเป้าหมายแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจในเชิงนโยบายของกระบวนการจัดทำงบประมาณ ประกอบด้วยประชากรเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) คณะผู้บริหารฝ่ายข้าราชการการเมือง 4 คน และพนักงานส่วนตำบล 15 คน (2) ฝ่ายสภาองค์การบริหารส่วนตำบล 14 คน (3) กลุ่มตัวแทนประชาชน 16 คน เป็นต้น ผลการวิจัยพบว่า (1) กระบวนการจัดทำงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบลทรัพย์อนันต์ เริ่มต้นด้วยการทำประชาคมหมู่บ้าน แล้วเป็นการทำประชาคมตำบล จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ โดยการตัดสินใจจัดสรรงบประมาณขึ้นอยู่กับคณะผู้บริหาร (2) บทบาทของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในการกำหนดนโยบายงบประมาณรายจ่ายนั้น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแสดงบทบาทอำนาจหน้าที่ตามกฎเกณฑ์น้อย แต่มีการประชุมนอกรอบเพื่อต่อรองงบประมาณรายจ่าย (3) ตัวแสดงที่มีบทบาทหลักกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายขององค์การบริหารส่วนตำบลทรัพย์อนันต์ ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และ (4) นักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่นระดับจังหวัดได้เข้ามามีบทบาทต่อองค์การบริหารส่วนตำบล เนื่องจากฐานคะแนนเสียงและผลประโยชน์ของนักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่นทับซ้อนและเกื้อหนุนกัน