Abstract:
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการสืบทอดวัฒนธรรมเก่าร่วมกับการสร้างสรรค์วัฒนธรรมใหม่ และมีนโยบายในการเผยแพร่วัฒนธรรมสู่สากลที่เรียกว่า คูล แจแปน โพลีซี่ (Cool Japan Policy) ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมการแต่งกายคอสเพลย์ในหมู่วัยรุ่นซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่จากการสำรวจแฟชั่นเครื่องแต่งกายคอสเพลย์ในประเทศไทยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า ซึ่งถือเป็นช่องว่างทางการตลาดในการสร้างตราสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางในการสร้างสรรค์ตราสินค้าเครื่องแต่งกายสตรีสตรีทแวร์ โดยใช้แนวคิดจากเครื่องแต่งกายประเภทคอสเพลย์ของประเทศญี่ปุ่น ให้เป็นสินค้าที่ทันสมัย และสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และสร้างความแปลกใหม่ให้กับเครื่องแต่งกายสตรีทแวร์ในปัจจุบัน ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยโดยการ หาข้อมูลและลักษณะจำเพาะของเครื่องแต่งกายประเภทคอสเพลย์จากข้อมูลปฐมภูมิ คือ การสำรวจเครื่องแต่งกายคอสเพลย์จากแหล่งต้นกำเนิด คือ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และข้อมูลทุติยภูมิ คือเอกสารและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องจากผลงานการออกแบบที่ใช้แนวคิดเดียวกัน ซึ่งในงานวิจัยฉบับนี้ ผู้วิจัยจำแนกได้ว่า เครื่องแต่งกายประเภทคอสเพลย์ มีทั้งหมด 13 แบบ ประกอบด้วย โลลิต้า เดโคระ วิชวลเคย์ โอชาเระเคย์ แฟรี่เคย์ ดอลลี่เคย์ คัลปาร์ตี้เคย์ พังก์ โกธิค ชิโรนุริ กันกุโระ วาฟุ และ โมริเกิร์ล ซึ่งแต่ละแบบมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป หลังจากนั้น ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ต่อเพื่อค้นหาแนวคิดร่วมของเครื่องแต่งกายประเภทคอสเพล์ยทุกแบบ และนำมาผสมผสานร่วมกับแนวโน้มแฟชั่นฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว ปี 2014 ในหัวข้อ อัลเลอร์กอรี่ และ โมเดิร์นมิธ เพื่อหาแรงบันดาลใจในการออกแบบ รวมไปถึงการกำหนดกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ตลาดของผลิตภัณฑ์ สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้ (1) กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายของงานวิจัยคือกลุ่มสตรีที่มีอายุระหว่าง 15 – 25 ปี ที่มีความชื่นชอบ หลงใหลในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งผู้วิจัยได้ทำการสำรวจตลาดกลุ่มผู้บริโภคเพื่อให้ได้คำตอบถึงรูปแบบที่ผู้บริโภคต้องการและพึงพอใจสูงสุด ในที่นี้คือ รูปแบบโลลิต้า และ พังก์ผลิตภัณฑ์ของงานวิจัยอยู่ในกลุ่มตลาดระดับปานกลาง โดยแนวทางในการออกแบบเครื่องแต่งกายมีความสอดคล้องกับเครื่องแต่งกายประเภทคอสเพลย์ประเภทโลลิต้าและพังก์ที่นำมาปรับให้สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ มีรูปแบบคลาสสิก สอดคล้องกับแนวโน้มแฟชั่นที่จะเกิดขึ้น และสามารถนำไปสวมใส่ร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น เพื่อเพิ่มโอกาสการใช้งานได้ (2) เครื่องแต่งกายของงานวิจัยมีลักษณะเด่นจำเพาะคือ มีรูปแบบที่มีกลิ่นอายของเครื่องแต่งการประเภทคอสเพลย์ประเภทโลลิต้าและพังก์ เช่น ลักษณะรายละเอียดบนเสื้อผ้า ในที่นี้คือ มีการแต่งระบาย การซ้อนทับ การประดับตกแต่ง และการทำลายเพื่อให้เกิดพื้นผิวใหม่ หรือการใช้วัสดุ ซึ่งในการออกแบบในวิจัยเล่มนี้ใช้ลูกไม้เป็นหลัก ผสมผสานกับผ้าเนื้อหนาชนิดอื่น เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากเครื่องแต่งกายที่มีขายอยู่ในตลาดปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มผู้บริโภค