Abstract:
ในปี พ.ศ.2554 เกิดมหาอุทกภัยขึ้นในประเทศไทย ที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยแบบสมัยใหม่ ทำให้เกิดแนวคิดอยู่ร่วมกับน้ำขึ้น นำมาสู่การศึกษาการปรับตัวด้านที่อยู่อาศัยของชุมชนพื้นถิ่นที่มีน้ำท่วมซ้ำซากในชุมชนบ้านนนทรีย์ ตำบลพุทเลา อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาการปรับตัวด้านที่อยู่อาศัยเนื่องจากน้ำท่วมของชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยศึกษาจากลักษณะทางกายภาพ สังคม และ เศรษฐกิจ ของครัวเรือนและชุมชนพื้นถิ่น และคัดเลือกเรือนเก่าแก่จำนวน 5 หลัง เพื่อทำการศึกษาการปรับตัวด้านที่อยู่อาศัยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และเสนอแนะแนวทางในการปรับตัวและพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร ภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายเก่าตั้งแต่อดีตปัจจุบัน การสำรวจ การสังเกต และการสัมภาษณ์เชิงลึก จากผู้อยู่อาศัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามขอบเขตพื้นที่วิจัย ผลการศึกษาพบว่าในเขตพื้นที่วิจัยของชุมชนบ้านนนทรีย์เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำ จึงมีเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่อย่างน้อย 6 ครั้ง มีที่อยู่อาศัยที่มีการปรับตัว (เรือนไทยเรือนพื้นถิ่น) คิดเป็นร้อยละ 91 จากจำนวน 307 หลังคาเรือน โดยเรือนที่ไม่มีการปรับตัวด้านที่อยู่อาศัย (เรือนสมัยใหม่) คิดเป็นร้อยละ 9 จากการศึกษาที่อยู่อาศัยที่มีการปรับตัวจากเรือนเก่าแก่จำนวน 5 หลัง พบว่า (1) ที่อยู่อาศัยมีความยืดหยุ่นสูงเนื่องไม้เป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย (2) มีการปรับตัวจากการย้ายที่ตั้งและถอยร่นที่อยู่อาศัย (3) มีการปรับยกระดับตัวเรือนให้สูงขึ้น (4) มีการสร้างส้วมให้อยู่บนเรือน (5) มีการทำโคก เนินเดินขนาดย่อมเพื่อใช้เป็นพื้นที่ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ในภาวะน้ำท่วม (6) ในบริเวณใต้ถุนมีการแบ่งพื้นที่ยกพื้นเพื่อเก็บเรือและไม้กระดานแผ่นเพื่อใช้ในช่วงน้ำท่วม (7) มีการแยกระบบไฟบริเวณเรือนชั้นบนและชั้นล่าง (8) มีการปลูกต้นไผ่บริเวณรอบพื้นตัวเรือน ไว้ใช้ทำเป็นเสาและคานสำหรับทางเดินชั่วคราวและหนุนพื้นเรือน เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงมหาอุทกภัยปี 2554 กับเรือนสมัยใหม่พบว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนและหลังน้ำท่วมเรือนไทยเรือนพื้นถิ่นมีค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่า โดยเรือนไทยเรือนพื้นถิ่นมีค่าใช้จ่ายระหว่าง 2,500-14,500 บาท ส่วนเรือนสมัยใหม่มีค่าใช้จ่ายระหว่าง 60,000 – 231,000 บาท ข้อเสนอแนะ (1) หากระบวนการทำให้ชาวชุมชนตระหนักรู้ถึงคุณค่าและสามารถทอดองค์ความรู้ของรูปแบบที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสู่คนรุ่นหลังให้ได้ (2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรให้ความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญในการปรับตัวของลักษณะทางกายภาพของเรือนไทยเรือนพื้นถิ่นแก่ประชาชน (3) ออกข้อบัญญัติกำหนดรูปแบบที่อยู่อาศัยที่อยู่ร่วมกับอุทกภัยได้ (4) การเลือกที่ตั้งการออกแบบที่อยู่อาศัยต้องสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก (5) รัฐควรที่จะหาวิธีการให้มีการนำไม้มาใช้เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในอนาคต เนื่องจาก ไม้ เป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ไม้เป็นวัสดุที่เหมาะสมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม