Abstract:
การใช้แผ่นเนื้อเยื่อปะปลูกชนิดแผ่นเต็ม (full thickness flap) และชนิดแผ่นไม่เต็ม (partial thickness flap) รักษาแผลที่เกิดจากการถอนฟันในสุนัข 6 ตัว และติดตามการเชื่อมติดของบาดแผลภายหลังการทำศัลยกรรม 1 7 14 และ 28 วัน พบว่ากลุ่ม partial thickness flap (2 ตัว) พบการอักเสบบริเวณผ่าตัดในวันที่ 1และ 7 การเชื่อมติดของบาดแผลทั้งในกลุ่ม full thickness flap (4 ตัว) และกลุ่ม partial thickness flap (2 ตัว) เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 7 ร้อยละ 100 การเปรียบเทียบผลจุลพยาธิวิทยาจากแผลที่ 14 วันพบว่าคล้ายกันในทั้งสองกลุ่ม โดยพบการสะสมของเซลล์สร้างเส้นใย เนื้อเยื่อใหม่รวมถึงหลอดเลือดจำนวนมาก บ่งชี้ว่าเกิดกระบวนการเพิ่มจำนวนและเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อการซ่อมแซม ในวันที่ 28 พบลักษณะที่แตกต่างจากวันที่ 14 มีการจัดเรียงตัวของคอลลาเจนเป็นระเบียบและมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่าในระยะนี้บาดแผลมีกระบวนการซ่อมแซมและเปลี่ยนแปลงรูปร่างเพื่อให้มีความแข็งแรงและคล้ายคลึงเนื้อเยื่อเดิมมากที่สุด การจัดเรียงตัวของชั้นเยื่อบุผิวในกลุ่ม partial thickness flap นั้นมีความเป็นระเบียบและลักษณะใกล้เคียงกับชั้นเยื่อบุผิวในเนื้อเยื่อปกติ ดีกว่าที่พบในกลุ่ม full thickness flap เมื่อพิจารณาลักษณะภายนอกของการหายของแผล การสังเกตการเชื่อมติดกันของขอบแผล ร่วมกับการพิจารณาจากลักษณะทางจุลพยาธิวิทยา พบว่าทั้งสองกลุ่มการรักษามีการตอบสนองของเนื้อเยื่อต่อกระบวนอักเสบ การซ่อมแซมแผลปริแตกและการหายของแผลคล้ายคลึงกัน สำหรับการติดตามการเปลี่ยนแปลงของความสูงของกระดูกเบ้าฟันกลุ่ม full thickness flap ในวันที่ 28 กระดูกเบ้าฟันบริเวณทำศัลยกรรมพบว่าด้านหน้ามีความสูงเพิ่มขึ้น 0.25 มิลลิเมตร และด้านท้ายมีความสูงเพิ่มขึ้น 2.05 มิลลิเมตร