Abstract:
วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อประเมินประสิทธิภาพวัคซีนอิมมูนคอมเพล็กซ์ในการป้องกันโรคเบอร์ซาอักเสบติดต่อในไก่เนื้อ เมื่อได้รับเชื้อไวรัส vvIBDV-CU1 ทั้งในด้านของภูมิคุ้มกันชนิดสารน้ำและ ภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ โดยแบ่งการศึกษาออกเป็นสองส่วน การทดลองแรกเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนและการแสดงออกของวัคซีนต่อระดับแอนติบอดี การตรวจพบไวรัสในวัคซีนที่อวัยวะน้ำเหลืองต่างๆ การทดลองที่สองศึกษาการ แสดงออกของไวรัสวัคซีนต่อภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ โดยศึกษาปริมาณทีลิมโฟไซต์เซลล์ชนิด helper T cell (CD4⁺CD3⁺/Total CD3⁺) ที่เพิ่มขึ้นจากการได้รับวัคซีนอิมมูนคอมเพล็กซ์ พบว่าไก่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนอิมมูนคอมเพล็กซ์มีแนวโน้มค่าคะแนนรอยโรคและการพบการบวมน้ำที่ต่อมเบอร์ซา และ น้ำหนักตัวไก่ดีกว่าไก่กลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนเล็กน้อย แต่ไม่พบความ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การตรวจพบเชื้อไวรัสจากวัคซีน สามารถตรวจพบได้ทั้งในต่อมเบอร์ซา ม้ามและไทมัส ตั้งแต่ไก่อายุ 7 และ 14 วันหลังจากได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันถ่ายทอดจากแม่ในลูกไก่ต่ำกว่า 500 ในวันที่ 14 และหมดลงในวันที่ 21 โดยไม่พบการเพิ่มขึ้นของระดับแอนติบอดีไตเตอร์ ณ วันที่ให้เชื้อไวรัส vvIBDV-CU1 (วันที่ 21 หรือ วันที่ 28) ในไก่ที่ได้รับวัคซีนชนิดอิมมูนคอมเพล็กซ์ แม้ว่าไก่ที่ได้รับวัคซีนจะไม่มีการตอบสนองทางแอนติบอดี แต่ไก่ที่ได้รับวัคซีนสามารถตรวจพบการเพิ่มจำนวนของไวรัสไอบีดี สายพันธุ์ w2512 ซึ่งเป็นสายพันธุ์จากวัคซีน ณ วันที่ 7 หลังจากให้วัคซีน ในส่วนของการตอบสนองของปริมาณอัตราส่วนทีลิมโฟไซต์เซลล์ชนิด helper T cell ในกระแสเลือดของไก่ที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีนพบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแสดงให้เห็นว่าวัคซีนไม่มีผลต่อการตอบสนองของ ปริมาณลิมโฟไซต์เซลล์ชนิด helper T cell