Abstract:
ในการสร้างสรรค์ซิมโฟอุปรากร “พระมหาชนก” ผู้ประพันธ์มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอการผสมผสานดนตรีไทยและดนตรีตะวันตกประกอบวรรณกรรมไทยในรูปแบบดนตรีเชิงพรรณนา สื่อให้เกิดจินตนาการในเรื่องราวพระมหาชนกซึ่งเป็นชาดกหนึ่งในทศชาติของพระพุทธเจ้าโดยในปี พ.ศ.2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดัดแปลงมหาชนกชาดก ให้มีความเหมาะสมกับสังคมไทยในปัจจุบันมีการเน้นในเรื่องผลของคุณธรรมและวิริยบารมีอัน จะนำไป สู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ รูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานเป็นบทประพันธ์ สำหรับวงออร์เคสตรา ร่วมกับวงดนตรีไทยและวงขับร้องประสานเสียง มีความยาวประมาณ 50 นาทีประกอบด้วย 4 องก์ในบทประพันธ์ได้ใช้ระบบโทนาลิตีผสมผสานเครื่องดนตรีไฟฟ้า และเครื่องดนตรีตะวันออกในการบรรยายเรื่องราว องค์ประกอบสำคัญที่ใช้ในบทประพันธ์ ได้แก่ การเลือกใช้คอร์ดการดำเนินทำนอง การจัดกลุ่มตัวโน้ตให้เป็นโมทีฟสำคัญ และนำโน้ตในแต่ละกลุ่มมาใช้ ทั้งขั้นคู่ 2, 3, 4 และ5 คอร์ดเรียงคู่ 4 และ 5 นอกจากนี้ยังนำเสียงประสานที่เป็นแบบโพลีโทนาลิตี พื้นผิวของบทประพันธ์มีการใช้ทั้ง โฮโมโฟนี โพลีโฟนี เฮเทโรโฟนี ประกอบกับเทคนิควิธีการประพันธ์ เช่น การดัดทำนอง การแตกทำนอง การเลียน โดรน ออสตินาโต ซีเควนซ์ ไซคลิก การพลิกกลับ การถอยกลับ มีการปรับเปลี่ยนบันไดเสียงหลายครั้ง มีทั้งอัตราจังหวะธรรมดา อัตราจังหวะผสม และอัตราจังหวะเชิงซ้อน การใช้ดนตรีหลากรูปแบบมาผสมผสานเพื่อบรรยายเรื่องราวใน “พระมหาชนก” นี้เป็นการเสริมสร้างจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ให้กับวงการดนตรีของไทยที่จะต้องพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัฒน์อันจะนำไปสู่การยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป