Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การตลาดการเมืองของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554” เป็นการศึกษาเพื่อตอบคำถามงานวิจัย 2 ประการคือ 1.ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ 2.พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์นำแนวคิดการตลาดการเมืองมาประยุกต์ใช้ ในกระบวนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างไร งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจ กลยุทธ์ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์นำมาใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ผ่านการนำแนวคิดและทฤษฏีเรื่องการตลาดการเมือง (Political Marketing) ของ Bruce I. Newman มาเป็นกรอบในการศึกษาหลัก ร่วมกับแนวคิดเรื่องการสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก(In-dept Interview) ประกอบกับการวิจัยเอกสาร ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยและ พรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 คือ เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปี พ.ศ. 2554 การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการสื่อสาร อย่างไรก็ตามเนื่องจากพรรค เพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดและแนวทางการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน ส่ งผลให้กลยุทธ์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้กรอบการตลาดการเมืองมีรูปแบบการนำเสนอและวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกัน ซึ่งพรรคเพื่อไทยเลือกที่จะนำความสำเร็จทางนโยบายในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยมาเป็นตัวสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลิตภัณฑ์ของพรรค ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะนำความเชื่อมั่นในตัวบุคคลคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาเป็นตัวสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลิตภัณฑ์ของพรรค