Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงระดับการพัฒนาบุคลากรของสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลแขวงพระนครใต้เปรียบเทียบกับทฤษฎี กรอบแนวคิดที่ได้ทบทวนวรรณกรรม เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาบุคลากรของสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลแขวงพระนครใต้ในปัจจุบันที่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาบุคลากรของสำนักงานคุมประพฤติดังกล่าว อีกทั้งยังเพื่อศึกษาถึงการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างระดับความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานด้านคุมประพฤติกับผลการประเมินการพัฒนาบุคลากรของตนเองในด้านดังกล่าว และยังศึกษาถึงการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างระดับการเตรียมความพร้อมที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักกับผลการประเมินการพัฒนาบุคลากรของตนเองในด้านดังกล่าว ผู้วิจัยใช้รูปแบบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) ประชากรและกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้คือบุคลากรของสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งได้แก่ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และ ลูกจ้างชั่วคราวของสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลแขวงพระนครใต้ จำนวนทั้งสิ้น 50 คน สถิติที่ใช้ได้แก่ การหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแตกต่างโดยการทดสอบ ค่าที ค่าเอฟ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ผลจากการทดสอบสมมติฐานการวิจัย ข้อที่ 1 “แนวทางการพัฒนาบุคลากรของสำนักงานคุมประพฤติประจำศาลแขวงพระนครใต้ในปัจจุบันที่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาบุคลากรของสำนักงานคุมประพฤติดังกล่าว ประกอบด้วย การศึกษาที่เป็นทางการ (Formal Education), การประเมิน (Assessment), ประสบการณ์การทำงาน (Job Experience), ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Relationship) และ การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning)” ข้อที่ 2 “ระดับความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานด้านคุมประพฤติกับผลการประเมินการพัฒนาบุคลากรของตนเองในด้านดังกล่าวมีความแตกต่างกัน โดยระดับความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานด้านคุมประพฤติจะสูงกว่าผลการประเมินการพัฒนาบุคลากรของตนเองในด้านดังกล่าว” และข้อที่ 3 “ระดับการเตรียมความพร้อมที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักอันได้แก่ เสาหลัก 1 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community–APSC) , เสาหลัก 2 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community–AEC) , เสาหลัก 3 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community–ASCC) กับผลการประเมินการพัฒนาบุคลากรของตนเองในด้านดังกล่าวมีความแตกต่างกัน โดยระดับการเตรียมความพร้อมที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักจะสูงกว่าผลการประเมินการพัฒนาบุคลากรของตนเองในด้านดังกล่าว” จึงยอมรับสมมติฐาน