Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานภาพและบทบาทสตรีในครอบครัวไทยเชื้อสายจีนในนวนิยายไทยแนวชีวิตครอบครัว พ.ศ. 2538-2546 จำนวน 8 เรื่องได้แก่ กิ่งไผ่-ใบรัก ทางสายธาร ใต้เงาตะวัน และ บ้านร้อยดอกไม้ ของปิยะพร ศักดิ์เกษม เจ้าสัวน้อย หมวยอินเตอร์ และ เจ้าสัวเจ้าสำราญ ของโสภี พรรณราย และ เลดี้เยาวราช ของทิพเกสร โดยศึกษาบริบทต่างๆของนวนิยายดังกล่าว อันได้แก่ ภูมิหลังทางสังคมทั้งด้านโครงสร้างครอบครัวและการผสมกลมกลืน และศึกษาพัฒนาการของนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวชาวจีนในประเทศไทย รวมถึงแนวการประพันธ์ของผู้เขียน ผลการวิจัยสรุปได้ว่า สภาพสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพและบทบาทสตรี ประการแรก สตรีในวัยกลางคนได้รับอิทธิพลด้านการอพยพ การสมรสข้ามชาติและสังคมทุนนิยม ตัวละครเหล่านี้ได้พัฒนาวัฒนธรรมและการประกอบธุรกิจอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ให้ดำรงอยู่ในโลกสากล อีกทั้งพวกเธอยังทำหน้าที่เป็นมารดาที่อบรมขัดเกลาสตรีรุ่นใหม่ให้มีสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้น ประการที่สอง ตัวละครสตรีบางคนนั้นได้เป็นภาพสะท้อนของอิทธิพลของการสมรสข้ามชาติที่เปลี่ยนแปลงสถานภาพและบทบาทของภรรยาไปจากจารีตดั้งเดิม ในทางตรงกันข้ามภรรยาต้องเผชิญหน้ากับค่านิยมมีภรรยาหลายคนของชายนักธุรกิจในสังคมชนชั้นกลาง สำหรับสถานภาพและบทบาทของลูกสาวนั้นพบว่าปัจจัยด้านการขัดเกลาทางสังคมจากสถาบันการศึกษานำไปสู่การพิสูจน์ความสามารถในการทำงานที่ทัดเทียมกับบุรุษ อย่างไรก็ดี การใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่อาจทำให้สตรีที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบจารีตจีนเกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ท้ายที่สุดแล้วพวกเธอได้เรียนรู้การยอมรับรากเหง้า และนำวัฒนธรรมดั้งเดิมมาปรับใช้ในโลกสากลอย่างเหมาะสม