Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหารูปแบบแนวทางการใช้องค์ประกอบและหลักการทางการออกแบบที่สามารถช่วยยืดความสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมายเจเนอเรชั่นแซดได้เพื่อที่จะนำคำตอบที่ได้ไปใช้ในการออกแบบสื่อสมัยใหม่ เช่น เว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น สำหรับกลุ่มเป้าหมาย โดยผู้วิจัยได้ใช้หลักทฤษฎีนพลักษณ์ มาเป็นตัวแปรต้น เพื่อหาบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายก่อน และนำบุคลิกเหล่านั้นมาปลี่ยนให้เป็นภาพประกอบ ภาพประกอบแบบตัวอักษร และโครงสร้างกริด โดยผ่านการสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านเรขศิลป์ และกลุ่มเป้าหมาย เป็นขั้นตอนสุดท้าย ผลของการวิจัยว่าบุคลิกภาพ(ลักษณ์) ลักษณะของภาพประกอบ และหลักการทางการออกแบบแบบใดที่สามารถยืดความสนใจของกลุ่มเป้าหมายเจเนอเรชั่นแซดได้นั้น เรียงตามลำดับคะแนนจากมากไปน้อยได้ดังนี้ 1. ลักษณ์นักแสดง (The Performer) ใช้สีแบบสดใส มีความอิ่มตัวสูง, สีโทนร้อนเป็นหลัก ใช้ตัวอักษรแบบที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะแบบวาดด้วยมือ มีการใช้ความแตกต่างของภาพด้วยรูปร่างและขนาด ใช้โครงสร้างกริดแบบโมดูลาร์ เป็นต้น 2. ลักษณ์ผู้สร้างสรรค์/ศิลปิน (The Romantic/ The Artist) มีการใช้สีที่หลากหลายโทน ตั้งแต่โทนสดใส เข้มข้น สว่าง ไปจนถึงโทนสีเทาและสีเข้ม ใช้ตัวอักษรแบบประดิษฐ์ขึ้นมาเฉพาะ ใช้โครงสร้างกริดแบบคอลัมน์ เป็นต้น 3. ลักษณ์นักทดลองลิ้มชิมรส (The Adventure/ The Epicure) ใช้สีแบบสดใส บนพื้นแบบสีกลาง (ขาว) ใช้เทคนิคการสร้างภาพแบบลายเส้นรอบนอก ใช้ตัวอักษรแบบที่ทำขึ้นมาเฉพาะ จัดตัวอักษรแบบไม่สมดุล ใช้โครงสร้างกริดแบบไฮราชิเคิล เป็นต้น 4. ลักษณ์เจ้านายหรือผู้ปกป้อง (The Protector/ The Boss) ใช้สีแบบสดใส เข้มข้น และสว่าง ทั้งโทนร้อนและเย็นควบคู่กับสีกลาง (ขาวและดำ) ในปริมาณใกล้เคียงกัน ใช้ภาพแบบเวคเตอร์เฉียบคม ใช้ตัวอักษรแบบไม่มีเชิงแบบตัวใหญ่ทั้งหมด จัดตัวอักษรแบบชิดซ้าย ใช้รูปแบบโครงสร้างกริดแบบโมดูลาร์ เป็นต้น 5. ลักษณ์คนสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist) เน้นการใช้สีดำและขาว ใช้เทคนิคการสร้างภาพแบบเวคเตอร์ ใช้ตัวอักษรไม่มีเชิงแบบตัวใหญ่ทั้งหมด จัดตัวอักษรแบบชิดซ้าย ใช้รูปแบบโครงสร้างกริดแบบไฮราชิเคิล เป็นต้น