Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของการเมืองในกระบวนการกำหนดนโยบาย โดยเลือกเอากรณีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา คือ ศึกษา กระบวนการเข้าสู่วาระของนโยบายการจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศึกษาการเมืองในกระบวนการกำหนดนโยบาย การจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่านโยบายที่ออกมานั้นเป็นผลทางการเมืองหรือไม่ และมีตัวแสดงใดบ้างที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย ศึกษาเปรียบเทียบเนื้อหาสาระในร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 และร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้ง ศอ.บต. ที่ผ่านมา ว่ามีความแตกต่างในเชิงผลประโยชน์ขององค์การอย่างไร โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนดนโยบายดังกล่าว และวิเคราะห์จากเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า การเปลี่ยนแปลงที่เป็นแรงผลักดันให้นโยบายเปลี่ยนมากที่สุด คือ กระแสการเมืองอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั่นเอง เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการดำเนินนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระบวนการกำหนดนโยบายการจัดตั้ง ศอ.บต. นั้นผู้ศึกษาพบวาเป็นการแสดงจุดยืนที่เป็นความต้องการของกระทรวงมหาดไทย ต่อมาเนื้อหาของกฎหมายก็ได้ถูกปรับ ซึ่งผลที่ออกมา (Political Outcomes) ไม่ใช่ทางเลือกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่คาดหวังไว้ (unintended) แต่นโยบายที่ออกมาเป็นผลจากการต่อรอง (Bargaining) ให้มาอยู่ที่จัดที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ (Compromise)