Abstract:
ประมาณค่าผลผลิตตามศักยภาพและช่องว่างผลผลิตของไทย เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์แนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยการประยุกต์ใช้วิธีการร่วมกันระหว่าง Multivariate Hodrick-Prescott filter และ Structural Vector Autoregression ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ที่พัฒนาจากวิธีการของ Rennison (2003) ผลการวิจัยพบว่า ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างช่องว่างผลผลิตกับอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 0.55 และในระยะสั้นปัจจัยด้านอุปทานมีอิทธิพลต่ออัตราเงินเฟ้อมากกว่าช่องว่างผลผลิต เนื่องจากปัจจัยด้านอุปทานเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการโดยตรง นอกจากนี้การส่งผ่านของนโยบายการเงินผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงใช้ระยะเวลา 16 เดือน เนื่องจากการส่งผ่านของนโยบายการเงินขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของประชาชนที่ปรับเปลี่ยนตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากการจำลองสถานการณ์ซึ่งอัตราเงินเฟ้อสูงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในอนาคตพบว่า หากธนาคารกลางปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แม้ว่าภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงจะหายไปอย่างรวดเร็ว แต่เศรษฐกิจไทยจะมีความสามารถในการรองรับวิกฤตเศรษฐกิจโลกลดลงในทางตรงกันข้าม หากธนาคารกลางปรับลดหรือคงอัตราดอกเบี้ย จะช่วยให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นกันชนที่จะรองรับการหดตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต การศึกษานี้มีข้อแนะนำว่าขนาดของวิกฤตเศรษฐกิจสามารถแนะนำขอบเขตของการดำเนินนโยบายการเงินได้ หากวิกฤตเศรษฐกิจมีความรุนแรงมากพอที่จะทำลายอุปสงค์ของโลก อัตราเงินเฟ้อสามารถเป็นเป้าหมายที่ดีที่สุดรองจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยในอนาคตมีแนวโน้มปรับตัวลงตามราคาน้ำมันและอุปสงค์ของโลก