Abstract:
วิทยานิพนธ์ “การสร้างสรรค์ละครนาฏยศิลป์ไทยในยุคใหม่” นี้ เป็นงานวิจัยแบบสร้างสรรค์ละครนาฏยศิลป์ โดยนำเอาบทประพันธ์เรื่อง “ทวิภพ” ของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นามปากกา ทมยันตี มาดัดแปลงเป็นบทละครนาฏยศิลป์ ซึ่งต้องการสร้างแนวคิดและโครงสร้างละคร เพื่อนำไปสู่รูปแบบการสร้างสรรค์ละครนาฏยศิลป์ไทยในยุคใหม่ ที่นำโครงสร้างและรูปแบบของละครนาฏยศิลป์แบบดั้งเดิมเป็นหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยได้ตั้งสมมติฐานการวิจัยถึง: ผลงานการแสดงจากงานวิจัยเรื่อง “การสร้างสรรค์ละครนาฏยศิลป์ไทยในยุคใหม่” ว่าละครนาฏยศิลป์ที่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบันควรแสดงถึงบริบทของคนในยุคนั้นหรือไม่ วิธีการ (Technic) สมัยใหม่สามารถนำมานำเสนอรูปแบบละครยุคใหม่ได้อย่างไร ทั้งนี้ผลของการวิจัยทำให้ได้การแสดงที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดการสร้างงาน และสร้างโครงสร้างงานเป็นต้นแบบเป็นหลัก ฉะนั้นจึงได้ทำการศึกษาถึงโครงสร้างละครนาฏยศิลป์ไทยทั้งแบบดั้งเดิมและแบบปรับปรุง ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ และทฤษฎีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ เครื่องมือ 4 ชนิดที่ใช้ในการวิจัยแบบสร้างสรรค์ในครั้งนี้คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ การสังเกตการณ์เข้าร่วมงานอบรมและงานสัมมนา การทดลองปฏิบัติการทางนาฏยศิลป์ การเก็บข้อมูลได้ดำเนินการอยู่ในช่วงของเดือนมิถุนายน 2554 ถึงเดือนมีนาคม 2557 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การสัมภาษณ์ได้รวมไปถึง นิสิต นักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะการแสดง โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์งานทางด้านนาฏยศิลป์ ข้อมูลทั้งหมดได้ถูกนำมาวิเคราะห์ และสร้างแนวคิดและโครงสร้างต้นแบบละครนาฏยศิลป์ไทยเรื่อง “ทวิภพ” ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้