Abstract:
ศึกษาการเสริมโครเมียมยีสต์ในอาหารต่อสมรรถภาพของระบบสืบพันธุ์ในสุกรสาวทดแทนสองสายพันธุ์ (แลนด์เรซ X ลาร์จไวท์) ในฟาร์มเอกชนผลิตสุกรขุนขนาด 1,500 แม่ โดยแบ่งสุกรออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มควบคุมไม่ได้รับการเสริมโครเมียมยีสต์ในอาหาร และกลุ่มทดลองซึ่งได้รับการเสริมโครเมียมยีสต์ในขนาด 200 พีพีบี โดยกลุ่มทดลองได้รับการโครเมียมยีสต์ในขั้นตอนการเตรียมสัตว์ทดลองตั้งแต่เป็นลูกสุกรหย่านมซึ่งมีน้ำหนักเฉลี่ย 6 กิโลกรัม จนกระทั่งสิ้นสุดการทดลองคือแม่สุกรได้หย่านมลูกในลำดับท้องที่สองเรียบร้อยแล้ว การศึกษานี้ได้ติดตามสมรรถภาพของระบบสืบพันธุ์ในแม่สุกรในการให้ลูกท้องแรกและการให้ลูกในลำดับท้องที่สองเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มควบคุมกับกลุ่มทดลอง พบว่าแม่สุกรท้องแรกที่ได้รับโครเมียมยีสต์เสริมในอาหารมีจำนวนลูกคลอดทั้งหมดสูงกว่ากลุ่มควบคุม 0.44 ตัว (9.94+-2.24 ตัว และ 9.50+-2.52 ตัว ตามลำดับ p>0.05) และมีจำนวนลูกคลอดมีชีวิตสูงกว่ากลุ่มควบคุม 0.60 ตัว (9.3+-2.46 ตัว และ 8.70+-2.79 ตัวตามลำดับ p>0.05) และมีช่วงเวลาระหว่างหย่านมถึงผสมน้อยกว่ากลุ่มควบคุม 1.54 วัน และในการให้ลูกในละดับท้องที่สองพบว่าแม่สุกรแรกที่ได้รับโครเมียมยีสต์เสริมในอาหารมีจำนวนลูกคลอดทั้งหมดสูงกว่ากลุ่มควบคุม 0.34 ตัว (9.95+-2.71 ตัว และ 9.61+-2.21 ตัว ตามลำดับ p>0.05) และมีจำนวนลูกคลอดมีชีวิตสูงกว่ากลุ่มควบคุม 0.15 ตัว (9.14+-2.69 ตัว และ 9.02+-2.18 ตัวตามลำดับ p>0.05) และมีช่วงเวลาระหว่างหย่านมถึงผสมน้อยกว่ากลุ่มควบคุม 1.41 วัน จากการทดลองสรุปว่าการเสริมโครเมียมยีสต์ในอาหารแก่แม่สุกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยมีแนวโน้มว่าจะทำให้ได้จำนวนลูกคลอดทั้งหมดสูงขึ้นและทำให้จำนวนวันแสดงการเป็นสัดหลังหย่านมสั้นเข้าแต่ไม่เด่นชัด