Abstract:
วัตถุประสงค์ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการตอบสนองของเนื้อเยื่อในฟันสุนัขที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีพัลโพโทมีบางส่วนโดยใช้สารอะซีแมนแนน เอ็มทีเอ หรือซีเมนต์กลาสไอโอโนเมอร์ชนิดดั้งเดิมเป็นวัสดุปิดทับเนื้อเยื่อใน วิธีการทดลอง เตรียมโพรงฟันในฟันสุนัขจำนวน 45 ซี่ (แบ่งเป็นฟันกรามน้อยจำนวน 33 ซี่และฟันหน้าจำนวน 12 ซี่) ให้มีการเผยเนื้อเยื่อในและกำจัดเนื้อเยื่อในลึกลงไป 1 มิลลิเมตร ปิดทับเนื้อเยื่อในโดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) สารอะซีแมนแนนศึกษาที่ระยะเวลา 7 วัน 2) เอ็มทีเอ 7 วัน 3) ซีเมนต์กลาสไอโอโนเมอร์ชนิดดั้งเดิม 7 วัน 4) สารอะซีแมนแนน 70 วัน 5) เอ็มทีเอ 70 วัน 6) ซีเมนต์กลาสไอโอโนเมอร์ชนิดดั้งเดิม 70 วัน บูรณะส่วนโพรงฟันด้วยซีเมนต์กลาสไอโอโนเมอร์ชนิดดั้งเดิม ทำการถอนฟันที่ระยะเวลา 7 วันและ 70 วันเพื่อศึกษาลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาและวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองด้วยสถิติทดสอบครัสคัล-วอลลิสและมันน์-วิทนีย์ยูที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ผลการทดลอง ได้คัดฟันจำนวน 2 ซี่ออกไปเนื่องจากวัสดุบูรณะแตกก่อนถึงช่วงเวลาถอนฟัน เหลือฟันสำหรับวิเคราะห์ผลทางสถิติจำนวน 43 ซี่ พบว่าที่ระยะเวลา 7 วัน กลุ่มที่ปิดทับเนื้อเยื่อในด้วยเอ็มทีเอให้การตอบสนองที่ดีที่สุดในแง่ความเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อในโดยแตกต่างจากกลุ่มอะซีแมนแนนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่พบความแตกต่างในแง่ความเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อในระหว่างกลุ่มอะซีแมนแนนกับกลุ่มซีเมนต์กลาสไอโอโนเมอร์และกลุ่มเอ็มทีเอกับกลุ่มซีเมนต์กลาสไอโอโนเมอร์ ในขณะที่ระยะเวลา 70 วัน กลุ่มที่ปิดทับเนื้อเยื่อในด้วยเอ็มทีเอให้การตอบสนองที่ดีที่สุดโดยมีความแตกต่างอย่างมีนัยสาคัญทางถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอะซีแมนแนนและกลุ่มซีเมนต์กลาสไอโอโนเมอร์ แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มอะซีแมนแนนกับกลุ่มซีเมนต์กลาสไอโอโนเมอร์ และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ปิดทับด้วยวัสดุชนิดเดียวกันที่ระยะเวลาต่างกันไม่พบความแตกต่างในการตอบสนองของเนื้อเยื่อในอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปผลการทดลอง ภายใต้ข้อจำกัดของการทดลอง ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเอ็มทีเอให้การตอบสนองของเนื้อเยื่อในของฟันสุนัขได้ดีที่สุดในแง่ความเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อในและดีกว่าสารอะซีแมนแนนและซีเมนต์กลาสไอโอโนเมอร์ชนิดดั้งเดิม