Abstract:
การวิจัยนี้เป็นวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยา มีวัตถุประสงค์ศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจในการเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่มีศิลปะเป็นสื่อของนิสิตนักศึกษาที่มีแนวโน้มภาวะวิกฤตทางอารมณ์และประสบการณ์ทางจิตใจภายหลังการเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่มีศิลปะเป็นสื่อ ผู้ให้ข้อมูลมีประสบการณ์ในการเข้าร่วมกลุ่ม สัปดาห์ละครั้ง ครั้งละประมาณ 3 ชม. เป็นเวลา 6 สัปดาห์ และเป็นผู้ที่มีค่าคะแนนจากการทำแบบประเมินภาวะวิกฤตทางอารมณ์ของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยไทยเพิ่มขึ้นภายหลังการเข้าร่วมกลุ่ม ผลการวิจัยพบว่านิสิตนักศึกษาที่มีแนวโน้มภาวะวิกฤตทางอารมณ์ที่เข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยานี้มีประสบการณ์ทางจิตใจ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การเปิดเผยตนเองต่อกลุ่ม เมื่อเริ่มได้แสดงออกถึงความเป็นตนเองและรับรู้ถึงการได้รับการยอมรับจากกลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลก็ยินดีที่จะเปิดเผยตัวเองมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการดำเนินไปของกระบวนการกลุ่ม 2) การตระหนักในตนเองผ่านการทำงานศิลปะ โดยการทำงานศิลปะเป็นสิ่งที่ดึงให้ผู้ให้ข้อมูลมีโอกาสกลับมาอยู่กับตัวเอง ได้สำรวจอารมณ์ ไตร่ตรองความรู้สึกนึกคิดเพื่อแสดงออกมาผ่านอุปกรณ์ศิลปะ 3) การเรียนรู้จากการเข้าร่วมกลุ่มที่เกิดขึ้นโดยอาศัยสัมพันธภาพและการทำศิลปะ โดยผู้ให้ข้อมูลต่างตระหนักถึงการเรียนรู้ที่ตนได้จากการเข้าร่วมกลุ่มครั้งนี้ ข้อมูลที่ได้ทำให้เห็นว่าการนำการทำงานศิลปะมาใช้ร่วมด้วยในกลุ่มมีส่วนช่วยเอื้อกระบวนการกลุ่มโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการช่วยลดความประหม่า ความรู้สึกระแวดระวังในช่วงต้นของกลุ่มและประเด็นเกี่ยวกับการเอื้อให้เกิดการเปิดเผยตนเอง รวมไปถึงประโยชน์ของการทำงานศิลปะเพื่อแสดงความคิดอารมณ์ความรู้สึก ช่วยให้เกิดความผ่อนคลายสบายใจ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลตนเองของผู้ที่มีแนวโน้มภาวะวิกฤตทางอารมณ์ ตลอดจนผู้ที่ทำงานดูแลจิตใจบุคคลทีมีแนวโน้มดังกล่าว