Abstract:
จากการตั้งคำถามและข้อโต้แย้งต่อเนื้อหาสาระของวาทกรรมการซื้อเสียง ที่คาบเกี่ยวกับการมุ่งประณามคนจนและคนชนบทของไทย อันนำไปสู่การสร้างเงื่อนไขสำหรับการสถาปนากระบวนวิธีในการควบคุมการเมืองที่ถอยห่างออกจากวิถีแห่งความเป็นประชาธิปไตยไปทุกขณะนั้น วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้จึงได้อภิปรายโลกทัศน์และมโนสำนึกในการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่เกิดจากการเมืองในชีวิตประจำวัน ซึ่งก้าวข้ามพ้นการเมืองที่เป็นทางการและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบจัดตั้งทุกรูปแบบ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ปฏิสัมพันธ์ในชุมชนท้องถิ่นนั้นไม่ได้มีลักษณะที่เรียบง่ายเสมอไป หากแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความขัดแย้งและการต่อรองภายในโครงข่ายทางอำนาจที่ซับซ้อน ดังนั้นจึงไม่อาจมีตัวแสดงใดที่จะสามารถชักจูงการตัดสินใจของชาวบ้านภายใต้กรอบของระบบอุปถัมภ์และการซื้อเสียงแบบเด็ดขาดได้ ในทางตรงกันข้าม ชาวบ้านสามารถเชื่อมโยงตนเองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง เข้าไปสู่สายสัมพันธ์ของระบบคุณค่าในท้องถิ่นซึ่งเป็นศูนย์กลางของความคาดหวังในการได้รับการตอบสนองต่อความปรารถนาและการยอมรับทางสังคมได้อย่างลงตัว ในขณะที่นโยบายการพัฒนาท้องถิ่นเองก็ถูกกำหนดโดยความต้องการของชาวบ้านผ่านการใช้อำนาจในการเลือกตั้งที่มีนัยยะสำคัญ พลวัตของสังคมการเมืองท้องถิ่นที่ปรากฏนี้ จึงเป็นการสะท้อนถึงปฏิบัติการทางการเมืองของคนจนและคนชนบทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่ามีลักษณะที่สามารถฉวยใช้ประโยชน์จากสิทธิ์อันชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างเป็นรูปธรรม มากกว่าที่จะเป็นเพียงผู้ล้าหลังทางการเมืองดังที่วาทกรรมการซื้อเสียงได้พยายามอธิบายไว้